กยท. จัดใหญ่เปิดเวทีสัมมนา วิชาการยางระหว่างประเทศ “IRRDB”

ธรรมนัส พรหมเผ่า

กยท.จัดใหญ่เปิดเวทีสัมมนาวิชาการยางระหว่างประเทศ “IRRDB” ร่วมจุดประกายเสริมสร้างนวัตกรรมยางพารามุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน ผลักดันงานวิจัย-นวัตกรรม สู่การพัฒนาวงการยางตลอดห่วงโซ่อุปทาน 

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการยางระหว่างประเทศ (IRRDB International Rubber Conference : IRC 2024) ภายใต้แนวคิด “จุดประกายเสริมสร้างนวัตกรรมยางพารามุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน” มุ่งผลักดันงานวิจัย-นวัตกรรม สู่การพัฒนาวงการยางตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจัดขึ้นโดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ (International Rubber Research and Development Board : IRRDB) ระหว่างวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ 2567

โดยมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนหน่วยงานสถาบันวิจัยจาก 19 ประเทศสมาชิก ได้แก่ บังกลาเทศ บราซิล กัมพูชา แคเมอรูน จีน โกตดิวัวร์ ฝรั่งเศส กัวเตมาลา อินเดีย อินโดนีเซีย ไลบีเรีย มาเลเซีย เมียนมา ไนจีเรีย ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เวียดนาม และไทย และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ โรงแรมดุสิตธานีพัทยา จ.ชลบุรี

พร้อมทั้งศึกษาดูงานกระบวนการรวบรวมผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรบางบุตร จ.ระยอง และการแปรรูปยางของสหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด จ.ชลบุรี นอกจากนี้ ภายในงาน รมว.เกษตรฯ ยังได้มอบแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาง รับมือความท้าทายในทุกมิติ และมอบรางวัลด้านต่าง ๆ ได้แก่ รางวัลผู้อุทิศตนให้กับงานด้านอุตสาหกรรมยางพารามาอย่างยาวนาน รางวัลผลงานงานวิจัยดีเด่น 2024 รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ 2024 (สาขาต้นน้ำ/ปลายน้ำ) และการมอบใบประกาศให้กับสมาชิกสมทบ IRRDB จากภาคเอกชนด้วย

ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกที่เป็นผู้นำด้านการผลิตยางพารา และมีประวัติศาสตร์การทำเกษตรอย่างยาวนาน มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการเกษตรเพื่อความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญและตระหนักถึงการกำหนดทิศทางในอนาคตของสินค้ายางพารา ซึ่งเป็นพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและของโลก เวทีประชุมวิชาการครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันความรู้ และความร่วมมือในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยางพารา

ภายใต้แนวคิด “จุดประกายเสริมสร้างนวัตกรรมยางพารามุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน” ผ่านการนำนวัตกรรม และสำรวจแนวคิดใหม่ ๆ จากผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์และนักวิจัยรุ่นเยาว์ พัฒนาสู่แนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน รับมือกับความท้าทายในภาคอุตสาหกรรมยางพาราที่กำลังเผชิญ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม เพื่อสามารถขับเคลื่อนวงการยางพาราทุกภาคส่วนในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

“ขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนจากทุกประเทศ ที่มีส่วนร่วมในการประชุมที่สำคัญนี้ สำหรับความทุ่มเทและความมุ่งมั่นในการพัฒนางานวิจัย และนวัตกรรมยางพาราทั้งระบบให้ก้าวไปข้างหน้าบนเส้นทางสู่อนาคตที่ยั่งยืน” ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้จะเป็นเวทีสำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องในวงการยางตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เชื่อว่าทุกความคิดเห็นและมุมมองที่หลากหลายจากการประชุมครั้งนี้ จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางร่วมกัน เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยางให้เกิดความยั่งยืนทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท
ณกรณ์ ตรรกวิรพัท

โดยมุ่งประโยชน์ที่จะเกิดกับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย นำไปสู่การพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งการนำเสนอผลงานทางวิชาการ งานวิจัย และการแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะ ความคิดเห็น ประสบการณ์ของตัวแทนหน่วยงานสถาบันวิจัยจาก 19 ประเทศสมาชิก จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัยให้มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาวงการอุตสาหกรรมยางต่อไป