“ศรีตรังฯ” เปิดแผนปี 2567 ปั๊มรายได้ 1 แสนล้าน

(ซ้าย)วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล-ปภาวี ศรีสุทธิพงศ์(ขวา)
(ซ้าย)วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล-ปภาวี ศรีสุทธิพงศ์(ขวา)

ศรีตรังฯ ทุ่มลงทุน 1,500-2,000 ล้าน ขยายกำลังผลิต 4 โรงงาน เพิ่มกำลังผลิต 2 แสนตัน/ปี ผุดศูนย์รับซื้อวัตถุดิบที่ไอวอรี่โคสต์ พร้อมส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ “ยาง GPS” เข้าระบบ EUDR เจาะตลาดยุโรป ดันเป้าหมายยอดขายปี 2567 ทะลุ 1.5 ล้านตัน โต 15% ปั๊มรายได้ 1 แสนล้าน

วันที่ 8 มีนาคม 2567 นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ให้กล่าว่า บริษัทวางเป้าหมายปริมาณการขายยางทุกประเภทในปี 2567 รวม 1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนที่มีปริมาณการขายรวม 1.3 ล้านตัน โดยมีรายได้ 100,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 84,000 ล้านบาท จากผลดีสถานการณ์ราคายางยังทรงตัวสูงต่อเนื่อง

โดยบริษัทวางงบประมาณลงทุน (CAPEX) ปีนี้ 1,500-2,000 ล้านบาท เทียบเท่ากับปีก่อน เพื่อขยายกำลังการผลิตโรงงาน 4 แห่ง คือ โรงงานพิษณุโลก 70,080 ตันต่อปี และโรงงานมุกดาหาร 140,160 ตันต่อปีโรงงานเมียนมา 17,520 ตันต่อปี รวมถึงจะมีกำลังการผลิตน้ำยางข้นแล้วเสร็จอีก 1 โครงการ ได้แก่ โรงงานนราธิวาสราว 18,400 ตันต่อปี ซึ่งจะทำให้ภาพรวมกำลังการผลิตของปี 2567 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 2 แสนตัน จากปีก่อนที่ 3.62 ล้านตันเป็น 3.86 ล้านตัน ทั้งยังนำเทคโนโลยีระบบ Automation เข้ามาใช้ มุ่งเน้นการบริหารสต๊อกยางพาราให้สอดคล้องกับความต้องการ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น

แนวโน้มตลาดดี-ผลผลิตลด-ราคาพุ่ง

ทั้งนี้ ปัจจุบันสัดส่วนรายได้หลักมาจากการส่งออก 90% และขายภายในประเทศ 10% สำหรับตลาดหลัก ประกอบด้วย ตลาดจีน 50% สหภาพยุโรป 30% และสหรัฐ 10-20%

“ปีนี้ตลาดยางแนวโน้มเติบโตจากปีก่อน โดยมีปัจจัยส่งเสริมจากดีมานด์ยางในยุโรปและสหรัฐที่เริ่มฟื้นตัว จากการที่ลูกค้าได้ระบายสินค้าคงคลังจนกลับมาอยู่ในระดับปกติ และหากสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศจีนเริ่มฟื้นตัวก็จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อภาพรวมดีมานด์อุตสาหกรรมยางธรรมชาติ เนื่องจากจีนเป็นผู้บริโภคยางรายใหญ่ของโลก”

ขณะที่ความกังวลต่อปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีผลให้ฝนตกลดลงและกระทบต่อผลผลิตยางที่ออกสู่ตลาด ลดลง ซึ่งจะต้องรอดประเมินสถานการณ์ยางอีกครั้งหลังจากผ่านเดือน มิ.ย. 2567 ไปแล้วว่าสถานการณ์ผลผลิตจะเป็นอย่างไร

สถานการณ์ราคายางธรรมชาติเริ่มทยอยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยราคาเฉลี่ยยาง TSR 20 ณ ตลาด SICOM ในเดือนมกราคม-เดือนกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ 152.7-155.1 เซนต์ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากจากราคาเฉลี่ยเดือนธันวาคมอยู่ที่ 145.4 เซนต์ต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นราว 5-7% ซึ่งแนวโน้มรายได้ของศรีตรังฯก็ขึ้นอยู่กับทิศทางราคายาง

ผุดศูนย์รับซื้อวัตถุดิบที่ ‘ไอวอรี่โคสต์’

นายวีรสิทธิ์กล่าวว่า ล่าสุด ทั้งยังได้ขยายศูนย์รับซื้อวัตถุดิบที่ประเทศไอวอรี่โคสต์ เพื่อรองรับโรงงานยางแท่ง ซึ่งประเทศไอวอรี่โคสต์เป็นแหล่งใหม่ที่มีผู้ประกอบการยางเข้าไปลงทุนจำนวนมาก

“ไอวอรี่มีการวางระบบยางที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ในอนาคตน่าจะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่สามารถผลิตยางรองรับ EUDR ได้ เช่นเดียวกับไทย”

ส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ ‘ยางมีพิกัด’ เจาะตลาดอียู

ล่าุดบริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ยางมีพิกัด (ยาง GPS) ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ถึงแหล่งที่มาของพื้นที่ปลูกเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของยุโรป
หรือ EU Deforestation Regulation (EUDR) ที่กำลังจะประกาศใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2568 กำหนดให้สินค้ายางพาราเป็น 1 ใน 7 สินค้าจะต้องดำเนินการตามกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า

ขณะนี้บริษัทเกษตรกรและผู้ค้ายางที่อยู่ในเครือข่ายผลิตยางมีพิกัดแล้ว 100,000 ราย ในปี 2567 ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 220,000 ราย ในปี 2568 รวมเป็นพื้นที่ 3 ล้านไร่

“ยาง GPS คือ ยางธรรมชาติ เช่น ยางถ้อนถ้วย, น้ำยางสด, ยางแผ่น เป็นต้น มาตรฐานยางมีพิกัดกับยางธรรมชาติไม่ได้แตกต่างกัน เพียงแต่ยางมีพิกัดจะสามารถระบุหรือตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของยางได้ว่ามาจากพื้นที่สวนไหน ของใคร เพื่อบอกว่าไม่สีการรุกป่า”

ด้านราคายาง GPS

สำหรับราคายางมีพิกัดตามทฤษฎีการทำยางมีพิกัดจะมีต้นทุนสูง ก็ต้องลงทุนสูง แต่ราคาจะสูงขึ้นเพียงใดขึ้นอยู่กับหลายด้าน โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการทดลองดำเนินการระหว่างศรีตรังฯ กยท. ผู้ค้า และเกษตรกร เพื่อจะดู Cost ที่เกิดขึ้น

“การทำยาง EUDR จะยกระดับราคายางของประเทศ อุตสาหกรรมยางทำมาหลายร้อยปี แต่ถ้าทำแบบเดิมการเรียกราคาขึ้นก็ทำได้ยาก การทำยางชนิดนี้มีแค่ Only one In Thailand ในพื้นที่หลายประเทศที่เป็นผู้ส่งออกยางเหมือนกันแต่ก็ยังทำไม่ได้ นี่จะเป็นข้อได้เปรียบ”

เป้าหมาย ยาง GPS

เป้าหมายในช่วง 1-2 ปี (ปี 2567-2568) จะสามารถผลิตและส่งออกยางมีพิกัดได้ 50% ของยอดขายทั้งหมด โดยหลักจะเป็นส่งออกยังตลาดสหภาพยุโรปก่อน เพราะเป็นตลาดแรกที่เริ่มใช้ EUDR แต่หลังจากนั้นคาดว่าสหรัฐ และตลาดอื่น ๆ น่าจะทยอยออกมามาตรการเช่นกัน ซึ่งหากไทยสามารถทำได้จะเป็นโอกาสในการส่งออก และเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมยางไทย เพราะไทยเป็นเพียงหนึ่งใน 2 ประเทศที่สามารถผลิตตาม EUDR ได้

“ที่ผ่านมาต้องชื่นชม การยางแห่งประเทศไทย กยท. มีความตื่นตัวมาก ให้ความรู้เกษตรกรในการเตรียมความพร้อม ทำให้ไทยมีข้อได้เปรียบเป็นเพียง 1 ในไม่กี่ประเทศที่ สามารถผลิตได้ตอบโจทย์ตลาดอียูจะเริ่มใช้ EUDR ซึ่งยางที่ส่งออกไปต้องเป็นไปตามมาตรฐานนี้ 100% ซึ่งโปรเจ็กต์นี้ยังสอดรับกับทิศทางของบริษัทศรีตรังฯที่มุ่งสู่การเป็นกรีนรับเบอร์คอมพานีมีการส่งเสริมเรื่อง Green Procuement Green Process และ Green Product มาตลอด”

โทษปรับหนักหากไม่ผ่าน EUDR

นางสาวปภาวี ศรีสุทธิพงศ์ Business Development and Partnership Manager บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยุโรป กดดันให้ผู้ส่งออกยางทั่วโลกต้องเร่งปรับตัวผลิตยางให้สอดรับมาตรการ EUDR ซึ่งจะห้ามนำเข้ายางที่ปลูกในพื้นที่รุกป่า นับจากเดือน ธ.ค. 2020 เป็นต้นมา โดยผู้ส่งออกจะต้องแนบเอกสารเพื่อยืนยันพิกัดสินค้าไปสำหรับสินค้าแต่ละลอตและจะมีการสุ่มตรวจสอบ

โดยกำหนดบทลงโทษขั้นรุนแรง หากตรวจสอบพบว่าผู้ส่งออกรายใดใช้ยางที่รุกป่า สินค้าลอตนั้นจะถูกยึด และต้องถูกปรับในอัตรา 4% ของมูลค่าการนำเข้า และผู้ส่งออกรายนั้นจะต้องติดโทษ “แบน” จากอียูด้วย

บริษัทได้เตรียมการผลิตยาง GPS โดยวางขั้นตอนการทำงานตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การจัดเก็บวัตถุดิบ และมาถึงขั้นสุดท้ายการสื่อสารเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจในผลิตภัณฑ์

“บริษัทวางระบบ Sri Trang Ecosystem อย่าง แอปพลิเคชั่น Sri Trang Friends, Sri Trang Friends Station, บริการ Super Driver และระบบ Smart factory ที่ช่วยทรานส์ฟอร์มกระบวนการรับซื้อยางสู่ดิจิทัล เชื่อมโยงผู้ที่อยู่ในระบบนิเวศ ทั้งชาวสวนยาง, ผู้ค้ายาง, ผู้ขนส่งยาง, ชุมชน, คู่ค้า ตลอดจนการยางแห่งประเทศไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาง เพื่อผลิตยางที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ทราบที่มาที่ไปของสวนยาง ที่สามารถยืนยันว่าไม่ได้ทำลายป่าและบุกรุกป่าสงวน”

โดยขณะนี้เครือข่ายของศรีตรังฯในบางพื้นที่ได้มีการปรับเพิ่มราคารับซื้อ เช่น สหกรณ์ใน จ.ตรัง ประกาศรับซื้อราคาสูงขึ้น เช่น ปกติอาจจะซื้อที่ 27 บาท ก็ขยับขึ้นเป็น 29 บาท แต่อย่างก็ตาม ราคานั้นจะใช้กลไกตลาดเป็นหลักซึ่งตลาดหลักอียูลูกค้ามีความพร้อมที่จะให้ราคายางมีพิกัดสูงขึ้น