กกพ.จ่อตรึงค่าไฟยาวถึง ส.ค. 4.18 บาท-เตรียมปรับขึ้นฐานค่าไฟ

ค่าไฟ

กกพ.เปิดรับฟังความเห็นสูตรคำนวณ ค่าเอฟทีงวด พ.ค.- ส.ค. 2567 ระหว่าง 7-22 มีนาคม 2567 คาดโอกาสเคาะตรึง ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4.18 บาท/หน่วย (เท่าเดิม) สะท้อนต้นทุน LNG ขาลง ค่าเอฟที 39.72 สตางค์/หน่วย พร้อมคืนหนี้ กฟผ. 14,000 ล้านบาท ชงกระทรวงพลังงานหามาตรการช่วยกลุ่มเปราะบาง 1,800 ล้านบาท กกพ.เตรียมปรับฐานค่าไฟใหม่ ไม่เห็นฐาน 3.78 บาทแล้ว

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 1 1/2567 (ครั้งที่ 896) เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8-22 มีนาคม 2567 ดังนี้

กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมด 99,689 ล้านบาทในงวดเดียว) แบ่งเป็น ค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการ ที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ในงวดเดียวหรือ 146.03 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีเรียกเก็บ 165.24 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 5.4357 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 4 งวด) แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ภายใน 4 งวด งวดละจำนวน 24,922 ล้านบาท หรือ 36.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บที่ 55.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.3405 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 (ตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบันตามที่ กฟผ.เสนอ หรือจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างประมาณ 7 งวด) แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ประมาณ 7 งวด งวดละจำนวน 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย

ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บคงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.1805 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

ทั้งนี้ ทั้ง 3 กรณีดังกล่าวข้างต้น ยังไม่รวมเงินภาระคงค้างค่าก๊าซของ ปตท. เป็นจำนวนเงิน 12,076 ล้านบาท และยังคงค้างที่ กฟผ. เป็นจำนวนเงิน 3,800 ล้านบาท รวม 15,876 ล้านบาท

นายคมกฤชกล่าวว่า มีโอกาสที่ กกพ.จะพิจารณาค่าเอฟทีเรียกเก็บรอบ พ.ค.-ส.ค. 2567 ในอัตรา 39.72 สตางค์ต่อหน่วย พร้อมคืนหนี้ กฟผ. 14,000 ล้านบาท เป็นเวลา 7 งวด โดยยังคงรักษาระดับอยู่ที่ระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ตามที่ กฟผ.เสนอ เป็นเรื่องที่เหมาะสม

สำหรับผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้ง 3 กรณีที่กล่าวข้างต้นนั้น เป็นไปตามการประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิงโดย ปตท. และ กฟผ. นำค่าประมาณการดังกล่าวมาคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งสำนักงาน กกพ.ได้จัดทำสรุปสมมุติฐานที่ใช้ในการประมาณการค่าเอฟทีรอบคำนวณเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 เทียบกับการคำนวณในปีฐาน พ.ค.-ส.ค. 2558 และรอบประมาณการค่าเอฟทีเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567

ซึ่งมาจาก 4 ปัจจัย คือ 1) คาดการณ์การใช้ไฟฟ้าปี 2567 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 5,349 หน่วย 2) อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการคำนวณการนำเข้าเดิมอยู่ที่ 35.83 บาท ปัจจุบันอยู่ที่ 35.34 บาท ดีขึ้นเล็กน้อย

3) ราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งคาดการณ์โดย ปตท.ได้จัดทำสมมุติฐานราคา Pool Gas อยู่ที่ 300.3 เหรียญสหรัฐ/MMBTU ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์ของแผน 333.5 เหรียญสหรัฐ เป็นผลจากราคา LNG ในตลาดโลกลดลง

“ปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ารอบ พ.ค.-ส.ค. 2567 ลดลง มีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนราคา LNG ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และส่งผลทำให้ราคาประมาณการ Pool Gas ลดลงจาก 333 ล้านบาทต่อล้านบีทียู เป็น 300 ล้านบาทต่อล้านบีทียู”

4) การคาดการณ์ข้อมูลในด้านปริมาณก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาที่นำเข้าลดลงต่ำกว่าเดิม จาก 700-800 ล้านลูกบาศก์ฟุต เหลือ 500 ล้านลูกบาศก์ฟุต และมีแนวโน้มว่าจะต่ำแบบถาวร (และสถานะล่าสุดคือมีน้ำไหลเข้าแหล่งผลิต จึงทำให้ไม่สามารถผลิตได้เต็มที่) ฉะนั้นจึงต้องมีการนำเข้า LNG มาทดแทน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแหล่งเอราวัณจะมีแผนทยอยปรับเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจาก 400 เป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือน เม.ย. 2567 แต่ประมาณการปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทยเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้ายังคงอยู่ในระดับเดิมหรือลดลงเล็กน้อย

“ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาถูกลงไม่ได้มาจากเอราวัณ แต่มาจาก LNG ในตลาดโลกถูกลง แต่ถ้าราคา LNG แพงขึ้นก็สวิตช์ไปใช้ถ่านหิน แต่ตอนนี้ LNG ถูกก็ต้องมาดูเรื่องการบริหารจัดการเทอร์มินอล”

สำหรับการพิจารณาเลือกใช้สมมุติฐานค่าไฟในอัตรา 4.18 บาทนั้น ทาง กกพ.ก็ได้มีความเห็นเสนอต่อกระทรวงพลังงาน ในการช่วยเหลือค่าไฟให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งทางกระทรวงให้ กกพ.คำนวณเม็ดเงิน ทางเราคาดว่าจะใช้เม็ดเงินประมาณ 1,800 ล้านบาท ประเด็นนี้เป็นหน้าที่ที่กระทรวงพลังงานจะต้องไปจัดหาแหล่งเงินสำหรับช่วยเหลือประชาชนในลำดับต่อไป

พร้อมกันนี้ ทาง กกพ.เตรียมพิจารณาปรับฐานค่าไฟที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟที จากปัจจุบัน 3.78 บาท มีโอกาสปรับไปสูงขึ้นเป็น ประมาณ 4 บาท จากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปลายปีนี้ ถึงต้นปีหน้า

พร้อมกันนี้ ทาง กกพ.ยังได้ติดตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อนว่ามีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (ค่าพีก) ในวันที่ 7 มีนาคม 2567 เวลา 19.47 น. ที่ระดับ 32,509.2 เมกะวัตต์ ซึ่งยังต่ำกว่าค่าไฟพีกของปีก่อน ที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 พ.ค. 2566 เวลา 21.41.น. ที่ระดับ 34,130.5 เมกะวัตต์