”ภูมิธรรม“ บุกจันทบุรี ดันเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีระดับโลก

”ภูมิธรรม“ บุกเมืองจันทบุรี หารือกลุ่มผู้ค้าพลอย พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรค เตรียมลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ หนุนจันทบุรีเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับระดับโลก และดันส่งออกผลไม้ ทุเรียนไปจีน

วันที่ 25 มีนาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้หารือกับหน่วยงานราชการและผู้ค้าอัญมณี จังหวัดจันทบุรี เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูง สร้างรายได้ให้ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ที่ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี

โดยพบว่าจังหวัดจันทบุรีมีครบถ้วนทุกอย่าง ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว ทะเล น้ำตก ของกิน และสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก คืออัญมณีและผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนและมังคุด คิดว่าอนาคตส่งออกผลไม้ของไทยดีแน่นอน

ส่วนอัญมณีจังหวัดจันทบุรีนั้น มีความพร้อมและมีศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี 2548 ที่ผ่านมา ปัจจุบันศูนย์นี้ตั้งมาเกือบ 20 ปีแล้ว เพื่อการค้าขายอัญมณี และเป็นศูนย์กลางค้าขายพลอย อีกทั้งมีการตรวจสอบรับรองคุณภาพ และมีช่างฝีมือของไทยที่ดังมากในระดับโลกในนี้ด้วย

ดังนั้น จากการหารือทำให้เห็นว่าวันนี้เรามารับรู้ผู้ประกอบการยังคงมีปัญหาในด้านของการส่งออก หรือแม้กระทั่งในการผลิตสินค้า รัฐบาลเองจึงต้องช่วยกันการดูแล ลดข้อจำกัด ผลักดันให้จังหวัดจันทบุรีเป็นศูนย์กลางอัญมณีและศูนย์กลางการค้าผลไม้ของไทย

“ผมคิดว่าอนาคตหากอัญมณีหมดจะทำอย่างไรให้ตลาดขายพลอย การนำเข้าพลอย ที่ยังไม่เจียระไนสามารถนำเข้ามาได้”

อย่างไรก็ดี การจะส่งเสริมตลาด การส่งออก-นำเข้าวัตถุดิบ การดูแลเรื่องอัตราภาษีอากรให้เหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อผลักดันให้จันทบุรีเป็นศูนย์กลางการค้าให้ได้ เชื่อว่าหากทำได้ จังหวัดจันทบุรีจะตอบโจทย์สร้างรายได้เข้าประเทศ ซึ่งอัญมณีสร้างรายได้เข้าประเทศกว่าปีละ 500,000 ล้านบาท รัฐบาลพร้อมที่จะช่วยในการประชาสัมพันธ์ จัดโครงข่ายและลดข้อจำกัดทางกฎหมายให้เป็นกองหน้าหารายได้เข้าประเทศได้ต่อไป

อัญมณี

คุยด่านจีนระบายผลไม้ไทย

ส่วนส่งออกผลไม้ นายภูมิธรรม กล่าวว่า จังหวัดจันทบุรีถือว่ามีความพร้อมในการส่งออกผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน ปริมาณและผลผลิตเพียงพอ ซึ่งจะต้องวางแผนให้มีการตรวจสอบคุณภาพ

จันทบุรีสามารถผลิตทุเรียนได้ประมาณปีละ 500,000 ตัน และในช่วงที่ผลผลิตออกมากอาจจะต้องใช้แรงงานถูกกฎหมายจากพื้นที่ภายนอกด้วย ซึ่งถ้ามีป้ายรับรองคุณภาพการส่งออกก็จะเร็วขึ้น ซึ่งคนจีนกินทุเรียนทั้งแบบสด

อย่างไรก็ดี เพื่อผลักดันการส่งออกให้มากขึ้น ผมและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะไปหารือท่านทูตจีนที่ด่านชายแดน เพื่อให้การค้าคล่องตัวขึ้น ถ้าเห็นว่ามีอะไรที่เป็นข้อจำกัดจะเร่งเจรจา ตอนนี้ได้ให้พาณิชย์จังหวัดไปดูว่าจะมีข้อเจรจาอะไรบ้าง

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ได้มีการกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออกปี 2567 แบ่งออกเป็น พันธุ์กระดุม วันเก็บเกี่ยว 15 เมษายน 2567 ค่ามาตรฐาน 27% พันธุ์ชะนี วันเก็บเกี่ยว 5 พฤษภาคม 2567 ค่ามาตรฐาน 30% พันธุ์พวงมณี วันเก็บเกี่ยว 5 พฤษภาคม 2567 ค่ามาตรฐาน 30% พันธุ์หมอนทอง วันเก็บเกี่ยว 20 พฤษภาคม 2567 ค่ามาตรฐาน 32% (ถ้าเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนต่ำกว่านี้ถือว่าเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน))

และหากเกษตรกร/มือตัด หรือสถานประกอบการ (ล้ง) ผู้จำหน่ายทุเรียนไม่มีการปฏิบัติตามที่ประกาศ และหากมีการตรวจพบทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ทั้งในสวนเกษตรกร รถบรรทุกทุเรียน และภายในโรงคัดบรรจุ (ล้ง) จังหวัดจันทบุรีจะใช้มาตรการทางการปกครองและมาตรการทางกฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดต่อไป

ภูมิธรรม