ส่งออกไทย ก.พ. 2567 โต 3.6% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 จากเศรษฐกิจโลกฟื้น

พาณิชย์ เผยตัวเลขส่งออกไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ขยายตัว 3.6% ต่อเนื่องเป็นที่ 7 ผลจากเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ส่งออกสินค้าเกษตร-อุตสาหกรรมขยายตัว แต่ต้องติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังกระทบ

วันที่ 26 มีนาคม 2567 นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่า มีมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท 827,139 ล้านบาท ขยายตัว 3.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 2.3% ส่วนการนำเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีมูลค่า 23,938.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.2% ส่งผลให้ไทยขาดดุล 554.0 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยยังคงเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นด้านการบริโภคที่กลับมา อีกทั้ง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลกที่อยู่ในระดับขยายตัวต่อเนื่อง การส่งออกภาคอุตสาหกรรมของไทยยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หม้อแปลงไฟฟ้า โทรศัพท์ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ

ในขณะที่สินค้าเกษตรขยายตัวได้ดีจากข้าวและยางพารา สำหรับวิกฤตการณ์ในทะเลแดงส่งผลกระทบเล็กน้อย โดยการส่งออกไปตลาดยุโรปและซาอุดีอาระเบียยังคงขยายตัว อย่างไรก็ดี แม้ตัวเลขการนำเข้าจะเพิ่มขึ้น แต่เป็นผลมาจากการนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า เพื่อผลิตเพื่อการส่งออกและบริโภคภายในประเทศ

ทั้งนี้ การส่งออกไทย 2 เดือนแรก มีมูลค่า 46,034.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 5.6% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 49,346.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.9% ส่งผลทำให้ดุลการค้า 2 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 3,311.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่งออกสินค้าเกษตร

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 1.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 7.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 9.2% กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 53.6% ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย สหรัฐ ฟิลิปปินส์ เซเนกัล และแอฟริกาใต้) ยางพารา ขยายตัว 31.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และตุรกี) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 7.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย และอิสราเอล)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 20.5% หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม และลาว แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และสหรัฐ) น้ำตาลทราย หดตัว 34.9% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ลาว สิงคโปร์ และมาเลเซีย

แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา ไต้หวัน เวียดนาม ปาปัวนิวกินี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัว 24.2% กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ มาเลเซีย ฮ่องกง และเวียดนาม แต่ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ญี่ปุ่น และอินเดีย)

ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 3.7%

ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 5.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน ซึ่งมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 24.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรเลีย และเม็กซิโก)

อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 6.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สหรัฐ อินเดีย เยอรมนี และเบลเยียม) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขยายตัว 18.0% ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ ออสเตรเลีย อินเดีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 5.6% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเม็กซิโก แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย สหรัฐฯ ซาอุดีอาระเบีย บราซิล และนิวซีแลนด์) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัว 13.2% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน จีน และสหรัฐ

แต่ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย ญี่ปุ่น เยอรมนี ฟิลิปปินส์ และรัสเซีย) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัว 14.3% หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ ออสเตรเลีย อินเดีย ไต้หวัน และตุรกี แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม อิตาลี อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น)

ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 7.7%

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปหลายตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐ สหภาพยุโรป และทวีปออสเตรเลียยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปจีน ญี่ปุ่น และอาเซียน (5) กลับมาหดตัว ตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ ดังนี้

(1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 2.7 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐ ร้อยละ 15.5 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 3.3 และ CLMV ร้อยละ 4.5 ขณะที่ จีน หดตัวร้อยละ 5.7 ญี่ปุ่น ร้อยละ 5.8 และอาเซียน (5) ร้อยละ 1.2 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 3.8 โดยขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 26.4 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 7.9 และรัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 46.4 ขณะที่หดตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 2.6 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 9.9 แอฟริกา ร้อยละ 18.2 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 7.3 (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัว

แนวโน้มส่งออก

แนวโน้มการส่งออกไตรมาส 2 ยังคงมีความท้าทายเนื่องจากการส่งออกเทียบปีที่ผ่านมามีทานค่อนข้างสูง แต่ก็ยังคงเชื่อว่าการส่งออกยังคงขยายตัว ส่วนแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า มูลค่าการส่งออกของไทยภาพรวมของปีนี้จะขยายตัว 1-2% ตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้และก็จะพยายามผลักดันการส่งออกเต็มที่เพื่อให้การศพออกโตเกินเป้า

ทั้งนี้ การส่งออกโตยังได้จากอุปสงค์ภาคการผลิตที่กลับมาสู่ระดับปกติทำให้ปริมาณการค้าโลกกลับมาขยายตัว และกระแสความมั่นคงทางอาหารที่ยังช่วยให้สินค้าเกษตรของไทยยังคงเติบโตได้ดี

แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจของคู่ค้าในตลาดหลักอย่างจีนสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวล่าช้า ภัยแล้งที่กระทบต่ออุปทานสินค้าเกษตร ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งมีผลกระทบแต่ก็เพียงเล็กน้อย และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและหามาตรการรองรับต่อไป