ส่งออกข้าวไทย 2567 เสี่ยงตกอันดับ เวียดนามขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก

ส่งออกข้าวไทย

ผู้ส่งออกข้าวคาดการณ์ส่งออกข้าวไทยปี 2567 ปริมาณ 7.5 ล้านตัน ติดตามปัจจัยเสี่ยง และคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนาม ที่มีโอกาสส่งออกได้มากและแย่งอันดับผู้ส่งออกข้าวของโลก วอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนเกินไป

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวของไทยในปี 2567 คาดการณ์ประมาณ 7.5 ล้านตัน โดยไทยยังเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก ซึ่งเท่ากับปริมาณการส่งออกของเวียดนามที่ 7.5 ล้านตันเช่นกัน และอินเดียยังเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกที่ปริมาณ 16.5 ล้านตัน จึงเป็นความเสี่ยงของไทยที่จะต้องรักษาอันดับ การเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก

โดยโอกาสที่เวียดนามจะส่งออกข้าวแซงไทยมีโอกาสเป็นไปได้สูง เพราะเริ่มเห็นตัวเลขการส่งออกข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากปกติการส่งออกจะเฉลี่ยเพียง 6 ล้านตันต่อปีเท่านั้น แต่เห็นชัดเจนขึ้นจากปี 2566 เวียดนามส่งออกได้ถึง 8.1 ล้านตัน และต้นปี 2567 เวียดนามสามารถประมูลข้าวจากอินโดนีเซียได้ถึง 4 แสนตัน จากการประมูลทั้งสิ้น 5 แสนตัน ส่วนที่เหลือเป็นของปากีสถานและเมียนมา ส่วนไทยไม่ได้ เพราะราคาข้าวแพงกว่า

“ราคาข้าวไทย 690 เหรียญสหรัฐต่อตัน เวียดนามเสนอราคา 655 เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง ต่างกันถึง 40 เหรียญสหรัฐ และที่สำคัญการผลิตข้าวของเวียดนาม ปัจจุบันได้ผลผลิตต่อไร่สูงถึง 970 กิโลกรัม แต่ไทยผลิตได้เพียง 450 กิโลกรัมต่อไร่ห่างกันมาก”

สำหรับข้อมูลผลผลิตข้าวทั่วโลกกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา หรือ USDA คาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวของโลกจะทรงตัวเท่ากับปีที่แล้ว เฉลี่ย 513 ล้านตัน โดยจีน มีผลผลิตมากที่สุด 144 ล้านตัน รองลงมาเป็นอินเดีย 132 ล้านตัน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ผลิตใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ประมาณ 20 ล้านตัน

นายชูเกียรติกล่าวอีกว่า การทำตลาดข้าว ผ่านการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี มองว่าเกิดขึ้นยาก เพราะแต่ละประเทศปรับเปลี่ยนการซื้อข้าว โดยใช้เอกชนเป็นผู้นำเข้าแทน แล้วเก็บภาษีนำเข้า เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือเกษตรกร และยังมีความคล่องตัวกว่า ทั้งนี้ การดำเนินการซื้อ-ขายข้าว แบบจีทูจี ของไทยก็ต้องใช้เวลา ต้องผ่านที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งใช้เวลาถึง 2 เดือนกว่าจะส่งมอบได้

ทั้งนี้ จากการแข่งขันที่มีสูงยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ต้องติดตาม ทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงนโยบายการจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดีย หากมีการทบทวนหันมาส่งออกข้าวอีกครั้ง จะกระทบกับตลาดข้าวทั่วโลกทันที เพราะราคาข้าวอินเดียอยู่ในระดับต่ำมาก และปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบต่อการผลิตมากน้อยแค่ไหน การส่งออกข้าวไทยในปี 2567 จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด