เปิดสาเหตุไทยวางเป้าส่งออกข้าว ปี 2567 แค่ 7.5 ล้านตัน

ส่งออกข้าว ข้าว

ผู้ส่งออกข้าวไทยเปิดสาเหตุและโอกาสการส่งออกข้าวไทยในปี 2567 โดยคาดการณ์ไว้ปริมาณ 7.5 ล้านตัน จากปี 2566 ส่งออกได้ถึง 8.76 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี ล่าสุดประมูลข้าวอินโดนีเซีย ไทยไม่มีลุ้น  เวียดนามกวาดไปถึงกว่า 4 แสนตัน

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 รายงานข่าวจากกรมการค้าต่างประเทศ ระบุการส่งออกข้าวไทยในปี 2566 ปริมาณ 8.76 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2561 เพิ่มขึ้น 13.62% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา มูลค่า 178,136 ล้านบาท หรือประมาณ 5,144 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.43% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา ขณะที่เป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2567 กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สรุปร่วมกันว่าการส่งออกข้าวไทยได้ปริมาณ 7.5 ล้านตัน

ทั้งนี้ โอกาสที่ไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับที่ 3 ของโลกหรือไม่นั้น ยังต้องรอดูในหลายปัจจัย ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์ของผลผลิตและการส่งออกข้าวของเวียดนามด้วย รวมถึงตลาดอื่น ๆ ปัจจุบันพบว่ามีการพัฒนาและยกระดับผลผลิตข้าวมากขึ้น เช่น กัมพูชาและจีน รวมไปถึงปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ สภาพแวดล้อมที่กระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรด้วย

ส่งออกข้าวไทยแค่ 7.5 ล้านตัน

ด้วยนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวไทยในปี 2567 ผู้ส่งออกคาดว่าจะมีปริมาณ 7.5 ล้านตัน ลดลงจากปีที่แล้ว โดยจะต้องติดตามที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ คือนโยบายการชะลอส่งออกข้าวของอินเดียภายหลังจากที่มีการเลือกตั้งแล้ว และปริมาณข้าวของเวียดนาม และปัจจุบันจีนได้พัฒนาและเพิ่มการขยายผลผลิตข้าวภายในประเทศมากขึ้น

ชูเกียรติ โอภาสวงศ์
ชูเกียรติ โอภาสวงศ์

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกคาดการณ์ว่าการส่งออกข้าวไทยในไตรมาส 1 คาดว่าจะอยู่ที่ปริมาณ 2.2-2.3 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 800,000 ตัน เป็นผลมาจากการส่งมอบข้าวให้กับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปีนี้ ทำให้การส่งออกช่วยไตรมาสแรกขยายตัวไปด้วยดี แต่การส่งออกในไตรมาส 2 คาดว่าจะต้องติดตามสถานการณ์ผลผลิตข้าวของเวียดนามและจีนซึ่งจะเป็นตัวกดดันการส่งออกเข้าไทย

“การส่งออกไตรมาส 2 จะรุนแรงมากขึ้น ทั้งในเรื่องของราคาและผลผลิต โดยเวียดนามผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ราคาข้าวของไทยหากเทียบกับคู่แข่งปากีสถานและเวียดนาม ยังคงมีราคาสูงกว่าเฉลี่ย 40 เหรียญสหรัฐต่อตัน”

ประมูลข้าวอินโดฯไม่มีลุ้น

สำหรับความต้องการนำเข้าข้าว 5% ของอินโดนีเซียในปี 2567 นี้อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านตัน โดยในช่วงปลายเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา อินโดนีเซียเปิดประมูลนำเข้าข้าว 5 แสนตัน ซึ่งผู้ที่ชนะประมูลได้ส่งออกข้าวมากสุดคือเวียดนามกว่า 4 แสนตัน โดยส่วนที่เหลือเป็นของปากีสถาน ประมาณ 7-8 หมื่นตัน และได้มีการเร่งทำสัญญาเพื่อส่งมอบแล้ว ซึ่งการเปิดประมูลครั้งนี้ไทยก็เข้าร่วม แต่ไม่สามารถประมูลแข่งขันได้ เนื่องจากราคาสู้กับคู่แข่งไม่ได้

“การประมูลข้าวของอินโดนีเซีย ทำให้เห็นว่าโอกาสที่อินโดนีเซียจะเปิดประมูลข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี แทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากการเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาแข่งขันดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และสามารถเริ่มส่งมอบได้ หากเป็นการประมูลแบบจีทูจีจะต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้น การเปิดประมูลนำเข้าข้าวของอินโดนีเซียจะมีขึ้นอีกครั้ง คาดว่าน่าจะเป็นครึ่งปีหลัง 2567 โดยในครึ่งปีแรกหลังจากประมูลไปแล้ว ก็จะชะลอออกไปก่อน ดูเรื่องของผลผลิตและนโยบายภายในประเทศ“

อย่างไรก็ดี โอกาสการเจรจานำเข้าข้าวแบบจีทูจียังมีโอกาสเป็นไปได้ แต่จะล่าช้า มีขั้นตอนเยอะ และราคาจำเป็นจะต้องเป็นที่ยอมรับกับประเทศผู้นำเข้า ซึ่งจะสรุปผลได้และสามารถส่งมอบต้องใช้ระยะเวลาถึง 2 เดือน

หวังส่งออกตลาดอื่น

ขณะที่การนำเข้าข้าวของประเทศฟิลิปปินส์ในปีนี้ นโยบายภายในประเทศเปิดให้เอกชนนำเข้าโดยอิสระ โดยเสียภาษีนำเข้า 30% ดังนั้น หากผู้ส่งออกจะส่งออกข้าวเข้าฟิลิปปินส์ได้ก็จะต้องมีการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง ขณะที่ตลาดอื่น ๆ ที่เป็นตลาดสำคัญของตลาดส่งออกข้าวไทย เช่น อิรัก ญี่ปุ่น มาเลเซีย ก็ยังสามารถผลักดัน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับราคาที่จะส่งออกด้วย

นอกจากนี้ ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์การส่งออกข้าวของอินเดีย ที่ผ่านมามีการชะลอส่งออกข้าว และในครึ่งปีหลังนี้จะต้องติดตามนโยบายว่าอินเดียจะยกเลิกการชะลอส่งออกข้าวหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่ามีผลต่อราคาข้าวในตลาดโลกและโอกาสการส่งออกข้าวไทยด้วย