เกรียงไกร ฉลุย ประธาน ส.อ.ท. ต่อ ความท้าทายงานร้อนช่วย SMEs

ส.อ.ท.

ผ่านไปแล้วสำหรับการประชุมสามัญ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา โดยถือเป็น “ด่านแรก” ในการเลือกตั้ง “ประธาน ส.อ.ท.” คนที่ 17 โดย กรรมการ ส.อ.ท. ที่มาจากการเลือกตั้งจำนวน 244 คน จะเข้าไปหนึ่งในองค์คณะร่วมกับ “กรรมการที่มาจากการแต่งตั้งโดยตำแหน่ง” 122 คน (จากกลุ่มอุตสาหกรรม 46 กลุ่ม+สภาอุตสาหกรรมจังหวัด 76 จังหวัด) รวมเป็น 366 เสียง เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนสมาชิก ส.อ.ท.ทั้งหมด 16,000 คน ตัดสินชี้ขาดเลือกผู้ที่จะมารับตำแหน่ง “ประธาน ส.อ.ท.” ในวาระ 2567-2568 ซึ่งมีกำหนดจะเลือกภายในเดือนเมษายน 2567 ถือว่า เป็นการสิ้นสุดขั้นตอนสุดท้ายของประธาน ส.อ.ท.คนใหม่

90% ของ 244 คนฝั่งเกรียงไกร

สำหรับบรรยากาศการเลือกกรรมการ ส.อ.ท. ในวันที่ 25 มี.ค. มีหลายคนกล่าวว่า “คึกคักมาก” มีสมาชิก ส.อ.ท.เดินทางมาลงคะแนนประมาณ 2,700 คน จากสมาชิกทั้งหมด 16,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 60% เป็นฐานเสียงของฝั่ง นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. ผู้ลงสมัครเพื่อต่อวาระการเป็นประธาน ส.อ.ท.อีก 1 สมัย ส่วนอีก 35% เป็นฐานเสียงฝั่งผู้ท้าชิง นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธาน ส.อ.ท. และเหลืออีก 5% เป็นกลุ่มที่ไม่ตัดสินใจ

โดยผลคัดเลือกกรรมการ ส.อ.ท. ที่ปรากฏออกมาในช่วงค่ำของวันนั้นสะท้อนว่า “กรรมการ” ฝั่งนายเกรียงไกร มีสัดส่วน 90-95% ขณะที่กรรมการฝั่งนายสมโภชน์ ผู้ท้าชิงมีสัดส่วนประมาณ 5% ซึ่งในจำนวน 5% นี้นับรวมตัว “นายสมโภชน์” และทีมจำนวนหนึ่งเข้าไปแล้วด้วย

ด้านแหล่งข่าว ส.อ.ท. วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งกรรมการครั้งนี้ว่า จนถึงตอนนี้ นายเกรียงไกร มีโอกาสชนะเป็นประธาน ส.อ.ท.ต่ออีกสมัยเกิน 90% แล้ว เหลือเพียงขั้นตอนสุดท้ายคือ การเลือกตั้งประธานอีกครั้งในเดือนเมษายน โดยกรรมการทั้งแบบแต่งตั้งและแบบเลือกตั้งจะต้องมาประชุมรวมกันเพื่อ “เลือกผู้นำ” ก็จะเป็นบทสรุป 100% แม้อาจจะเรียกได้ว่าเกิน 90% และ “ไม่น่าจะมีอะไรพลิกเกม” แต่ทางฝั่งของนายสมโภชน์ ก็ยังมีโอกาสอยู่อีกครั้ง จึงยังสรุปชัดในทันทีตรงนี้ไม่ได้

“เท่าที่วิเคราะห์สาเหตุเสียงสนับสนุนคุณสมโภชน์ตกเป็นรองคุณเกรียงไกรนั้น น่าจะมาจาก 3-4 เรื่อง คือ 1) เวลาสั้น คุณสมโภชน์ประกาศตัวลงแข่งขันในระยะเวลาค่อนข้างกระชั้นชิด 2) สมาชิกทั่วไปยังไม่คุ้นเคยกับ คุณสมโภชน์ ที่เข้ามาอยู่ในสภาอุตสาหกรรมในระยะเวลาที่ยังไม่ยาวนานมากพอจะให้สมาชิกรู้จักในฐานะที่ทำงานให้กับ สภาอุตสาหกรรม

ในขณะที่ คุณเกรียงไกรอยู่มานาน มีคนรู้จักมากกว่า ทำคะแนนเรื่องการสื่อสาร ในฐานะ ประธานสภาอุตสาหกรรม มาโดยตลอด ถึงแม้จะมีบางเสียงพูดเรื่องไม่ใกล้ชิดสมาชิกมากพอก็ตาม 3) ฐานเสียง ถึงแม้คุณสมโภชน์ได้ฐานเสียงจากกลุ่มอุตสาหกรรมหลายกลุ่ม แต่จำนวนสมาชิกที่สนับสนุนน่าจะไม่ได้เดินทางเข้ามาลงคะแนนมากพอ และ 4) วัฒนธรรมที่ ส.อ.ท.ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องก็คือ ประธาน ส.อ.ท.ส่วนใหญ่จะดำรงตำแหน่ง 2 วาระต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังต้องรอความชัดเจนตามขั้นตอนในการเลือกประธานก่อน”

รอเลือกประธานรอบสอง

ล่าสุด นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอกระบวนการขั้นต่อไป คือ กรรมการทั้งหมด 366 คน จะนัดวันประชุมเพื่อเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท. ในเดือนเมษายน 2567 “แต่ผมก็ความมั่นใจต่อผลการเลือกตั้งประธานที่จะออกมาว่าจะไม่เปลี่ยนแปลง” เพราะกรรมการจากการเลือกตั้ง 244 คนที่ได้รับเลือกนี้ “มี 90-95% เป็นทีมของเรา”

จึงทำให้มั่นใจเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งประธานในเดือนเมษายน 2567 ส่วนที่เหลือที่เป็นกรรมการของอีกฝั่งหลุดเข้ามา “ถือเป็นเสียงส่วนน้อย” ซึ่งก็เป็นธรรมดา เพราะทุก ๆ ครั้งที่มีการเลือกตั้งไม่ถึง 100% ซึ่งปกติได้ชนะกันแค่ 70-80% ก็ได้เป็นทีมฝ่ายแกนนำแล้ว แต่ครั้งนี้สัดส่วน 90-95% ก็ถือว่า “สูงมาก ฉะนั้นไม่น่ามีปัญหา”

หลังจากประกาศผลเลือกประธาน ส.อ.ท.ในรอบสองก็เตรียมจะประกาศรายชื่อ ทีมกรรมการบริหาร ส.อ.ท. 4-5 ตำแหน่ง คือ ประธาน, เลขาธิการ, เหรัญญิก และนายทะเบียน ที่ต้องประกาศในวันนั้นตามกฎหมายกำหนด ส่วนที่เหลือหลังจากนั้นจึงจะประกาศเพิ่ม

“ส่วนจะมีตำแหน่งให้อีกฝ่ายเข้าร่วมเป็นทีมบริหารหรือจะให้เป็นเพียงแค่ กส. นั้นก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตอบ” นายเกรียงไกรกล่าว

เปิดวาระงานร้อน “เกรียงไกร”

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ความท้าทายหลักของการทำงานในวาระ 2 งานเร่งด่วนที่จะต้องทำก็คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ กลุ่ม SMEs จากที่ปัจจุบันเป็นปัญหาเร่งด่วนคือ มีสมาชิก 22 กลุ่มอุตสาหกรรมร้องเรียนเข้ามาถึงปัญหาการมีสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาในภูมิภาครวมถึงไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ไทยผลิตอยู่

และที่สำคัญสินค้านำเข้ากลุ่มนี้ด้อยคุณภาพ ขาดมาตรฐาน มีการลักลอบนำเข้าด้วยการสำแดงเท็จ กระทบต่อ SMEs อย่างรุนแรง ถึงขั้นอาจจะต้องปิดไลน์การผลิตเพราะแข่งขันไม่ได้ ประเทศไทยจะกลายเป็นผู้นำเข้าสินค้า ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมล้มหายตายจากไปและกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ เป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวมาก เรื่องนี้ ส.อ.ท.ต้องผนึกกำลังกับภาครัฐในการหาทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้สินค้าเหล่านี้เข้ามาแบบผิดกฎหมาย ซึ่งมาตรการที่มีอยู่ในประเทศยังไม่เพียงพอและไม่ไวพอ จะต้องศึกษาหามาตรการที่ทำได้เร็วขึ้น

พร้อมกันนี้จะเดินหน้า “นโยบาย One FTI” ที่ประกาศเป็นนโยบายออกไปแล้ว โดยโครงการนี้ออกมาต้องทำต่อเนื่อง 2 วาระเป็นเวลา 4 ปี กล่าวคือ 2 ปีแรกเป็นการวางนโยบาย โครงสร้าง เครือข่ายและเตรียมหาสิ่งสนับสนุน เช่น การตั้งกองทุนนวัตกรรมเพื่อไปขับเคลื่อนงาน รวมถึงพิลลาร์ขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งหลายโครงการได้เริ่มขับเคลื่อนไปแล้ว เช่น Smart Ariculture Industry (SAI) ซึ่งจะเป็นโครงการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อให้มี One Province One Industry (1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรม)

ซึ่งขณะนี้มีที่ทางจังหวัดเสนอมา 10 โครงการ จะคิกสตาร์ตในวาระที่ 2 เพื่อให้เกิดผลเพราะมองว่า ทุกจังหวัดมีอุตสาหกรรมเกษตรที่เข้มแข็งอยู่แล้ว โครงการนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและสร้างงานในพื้นที่ ทั้งยังจะเชื่อมโยงกับ อว. ในการพัฒนาหลักสูตรคนเพื่อรองรับ

อีกทั้งยังมีนโยบายยกระดับความสามารถทั้งระยะสั้น-กลาง-ยาว โดยจะดำเนินแนวทาง “3 Go” คือ 1) Go Digital ด้วยภาวะเศรษฐกิจไทยเปราะบาง SMEs ได้รับผลกระทบหนักสุด ทาง ส.อ.ท.จึงผลักดันให้สมาชิกผันตัวสู่ Smart SMEs โดยจะต้อง Go Digital ให้เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลได้เร็ว โดยมีแผนร่วมกับอุตสาหกรรมดิทิจัล ส.อ.ท. จัดทำแพ็กเกจรวมซอฟต์แวร์จำหน่าย SMEs เข้าถึงในราคาที่ไม่แพง 1,110 บาท/แพ็กเกจ เพราะหากสมาชิก SMEs ทั่วประเทศจะต้องลงทุนนำหลาย ๆ ซอฟต์แวร์มาใช้เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล จะมีต้นทุนแพงมากนับ 100,000 บาท “นี่เป็นการแก้เพนพอยต์ให้”

2) Go Innovation เป็น SMEs ที่จิ๋วแต่แจ๋ว โดยการให้ กองทุน Innovation One ที่ก่อตั้งมาสมัยแรกในการให้ทุนสตาร์ตอัพ เพื่อให้นำไอเดียมาช่วย SMEs มีนวัตกรรม กองทุนนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก อว. โดย สกสว.จำนวน 1,000 ล้านบาท สมทบกับเอกชนอีก 1,000 ล้านบาท เป็น 2,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีโครงการขอสนับสนุนค้างอยู่จำนวนมาก และตอนนี้ได้จัดเวิร์กช็อปให้ไปหลายครั้งเพื่อเตรียมขอรับทุน

3) Go Global คือ การสนับสนุน SMEs ส่งออกไปสู่โลกด้วยตัวเอง กรณีเป็น SMEs ภาคการผลิตก็ให้เข้าใจเรื่องมาตรฐานเพื่อพัฒนาตัวเองเข้าสู่ซัพพลายเชนของบริษัทต่าง ๆ ที่มาลงทุนในประเทศไทย เช่น รถ EV จากจีนมาลงทุนในไทยก็ให้ใช้ซัพพลายเชนในประเทศแทนการนำมาจากจีน เรื่องนี้ดำเนินการร่วมกับทั้ง อว. และกระทรวงอุตสาหกรรม

“ส่วนประเด็นเรื่องค่าแรง-ค่าไฟ นั้นถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตามสถานการณ์ เป็นเรื่องที่เราทำอยู่แล้วและจะต้องไม่ทำให้เป็นภาระของ SMEs มาก เพราะ SMEs ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และไทยอ่อนแอ กำลังซื้อลด ดังนั้นต้องระวังเรื่องต้นทุนทั้งหมด ทั้งค่าแรง ค่าไฟ ดอกเบี้ย รวมถึงวัตถุดิบทั้งหลายเกรงว่าต้องระมัดระวังเพราะเอสเอ็มอีจะไปไม่ไหว เรื่องนี้เป็นรูทีนที่เราต้องติดตามอยู่แล้ว” นายเกรียงไกรกล่าว

ตรวจสอบแพลตฟอร์ม FTIX ต่อ

ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่มีการตั้งมูลนิธิหนึ่งแล้ว อ้างชื่อ ส.อ.ท. เพื่อไปขอทุนสนับสนุน ก็ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง โดยต้องบอกว่า การตั้งกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท. และไม่ได้เกี่ยวกับเลือกตั้งครั้งนี้ แต่เป็นกระบวนการทำงานที่เกิดขึ้นตามที่ได้รับการติดต่อมาจากหน่วยงานภาครัฐ 2 หน่วยงาน (ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน) ว่า มีผู้ใช้มูลนิธิ ไปอ้างขอทุนสนับสนุนการวิจัย โดยระบุว่าใช้สถานที่ และแพลตฟอร์ม FTIX ของ ส.อ.ท.

ดังนั้น ทางกรรมการ ส.อ.ท.จึงได้ตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมี ธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธาน ส.อ.ท. เป็นประธาน และมี นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. เป็นฝ่ายเลขาธิการ และได้ทำจดหมายเชิญฝ่ายที่ถูกตรวจสอบมาให้ข้อมูล เพื่อให้ความยุติธรรม ซึ่งผลสรุปข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้น ขณะนี้ทางกรรมการ ส.อ.ท.ได้มีมติว่าจ้างทีมทนาย ทีมที่ปรึกษากฎหมายจากภายนอกเข้ามา เพราะเรื่องนี้ซับซ้อนและมีหลายข้อที่ต้องดูว่า ฝ่ายกฎหมายจะเสนอแนะว่าอย่างไร จะมีความเสียหายเกิดขึ้นกับสภาอุตสาหกรรมอย่างไร จากนั้นจะสรุปเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง