3 ชุดเฉพาะกิจจับกุมขบวนการลักลอบนำเข้าโค 127 ตัว ชายแดนไทย-เมียนมา

3 ชุดเฉพาะกิจ (พญานาคราช กองสารวัตรและกักกัน ราชมนู) ผนึกกำลังจับกุมขบวนการลักลอบนำเข้าโค 127 ตัว บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา

วันที่ 27 มีนาคม 2567 นายชัยวัฒน์ โยธคล รองผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช พร้อมด้วยนายบุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายชุติพนธ์ ศิริมงคลรัตน์ ผู้อำนวยการกองสารวัตรและกักกัน และนายสุชาติ หมอกยา ปศุสัตว์จังหวัดตาก เปิดเผยผลการปฏิบัติงานของชุดเฉพาะกิจพญานาคราชที่ปฏิบัติการป้องกันการลักลอบนำเข้าโค-กระบือจากประเทศเพื่อนบ้าน พบการกระทำผิดในการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ โดยจับกุมตัวผู้กระทำผิด และสามารถยึดอายัดโคจำนวนทั้งสิ้น 127 ตัว ในพื้นที่ตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก และตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

“หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราชจึงได้เข้าดำเนินการ โดยบูรณาการร่วมกับกรมปศุสัตว์ หน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ ทั้งทหารโดยหน่วยเฉพาะกิจราชมนู ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ร่วมกันปฏิบัติงานร่วมกันทุกภาคส่วน จากที่ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศสงครามกับการลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรเถื่อนทุกชนิด ที่ลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อกลไกตลาด ทำให้ราคาสินค้าเกษตรที่ผลิตภายในประเทศตกต่ำ ต้องปราบปรามเด็ดขาด ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน”

นายบุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 เวลาประมาณ 01.00 น. ด่านกักกันสัตว์ตาก ชุดเฉพาะกิจพญานาคราช ชุดเฉพาะกิจกองสารวัตรและกักกัน (ด่านกักกันสัตว์กำแพงเพชร ด่านกักกันสัตว์พิจิตร) ปศุสัตว์จังหวัดตาก ตำรวจภูธรจังหวัดตาก เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรท่าสองยาง เจ้าหน้าที่ทหารหน่วย มว.รวป.ฉก.ราชมนู ทหารพรานร้อย ทพ.3503 กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน 344 และฝ่ายปกครองอำเภอท่าสองยาง ร่วมจับกุมผู้กระทำผิดฐานลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ ในเขตเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ชนิดปากและเท้าเปื่อย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ประจำท้องที่ ตามความผิดตามมาตรา 22 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พุทธศักราช 2558

เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ตากได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่ามีขบวนการลักลอบนำเข้าโคจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเข้ามาในราชอาณาจักร บริเวณพื้นที่ตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก และจะเคลื่อนย้ายโคไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ ซึ่งอยู่บริเวณทุ่งกากอกและริมแม่น้ำเมย ในพื้นที่ตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ตรวจสอบพบโคจำนวน 79 ตัว ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1.โคจำนวน 31 ตัว ถูกพบบริเวณทุ่งกากอก ตำบลแม่ต้าน ซึ่งห่างจากแม่น้ำเมย เป็นระยะทางประมาณ 400 เมตร โดยมีผู้แสดงตัวเป็นเจ้าของ 1 ราย เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบเอกสารประจำตัวสัตว์ แต่ไม่สามารถนำเอกสารประจำตัวสัตว์มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้ และขณะตรวจสอบค้น พบรถกระบะ 4 ล้อ จำนวน 4 คัน ซึ่งผู้ขับขี่ให้การว่า รถกระบะดังกล่าวจะนำมาบรรทุกโค เพื่อเคลื่อนย้ายไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่จึงตรวจยึดโคไว้ เพื่อดำเนินการตรวจสอบ

2.โคจำนวน 48 ตัว ถูกพบบริเวณริมแม่น้ำเมย ตำบลแม่ต้าน โดยไม่มีผู้ใดมาแสดงตัวเป็นเจ้าของ เจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจยึดโคของกลางดังกล่าว เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์ที่แท้จริง และได้นำของกลางที่ตรวจยึดส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรท่าสองยาง เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

และเมื่อเวลา 19.30 น. สายข่าวรายงานว่าจะมีการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ โดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานจึงได้ร่วมกันออกลาดตระเวนพื้นที่โดยรอบ เพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย ในพื้นที่บริเวณถนนเส้น 105 แม่สอด-แม่ฮ่องสอน และถนนภายในหมู่บ้านพะนอดี ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ในขณะปฏิบัติหน้าที่ได้พบรถกระบะ 4 ล้อ จำนวน 8 คัน ขับขี่ผ่านไปทางบ้านพะนอดี ในพื้นที่ตำบลแม่หละ เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวและเรียกตรวจสอบรถกระบะต้องสงสัยดังกล่าว

พบว่ารถกระบะทั้ง 8 คัน บรรทุกโคเพศผู้คันละ 6 ตัว รวมทั้งสิ้น 48 ตัว และมีผู้ร่วมขบวนการทั้งหมด 11 ราย เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าตรวจสอบใบอนุญาตการเคลื่อนย้ายสัตว์ภายในเขตเฝ้าระวังโรคระบาด (ร.3) ซึ่งผู้ต้องหาไม่สามารถนำใบอนุญาตในการเคลื่อนย้ายสัตว์มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่สารวัตรกรมปศุสัตว์ได้

และโคดังกล่าวไม่มีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ จากการสอบกลุ่มผู้ขับขี่ให้การว่า ได้รับการว่าจ้างจากบุคคลหนึ่งให้ขนย้ายโคมีชีวิต จากอำเภอท่าสองยางไปยังปลายทางอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมดังกล่าว จึงได้ตรวจยึดของกลาง ประกอบด้วย รถกระบะจำนวน 8 คัน โคเพศผู้จำนวน 48 ตัว และผู้ต้องหา 11 ราย

ซึ่งมีความผิดฐานลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ ในเขตเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ชนิดปากและเท้าเปื่อยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ตามมาตรา 22 ประกอบกับมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พุทธศักราช 2558 โดยเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการส่งมอบของกลางและส่งตัวผู้ต้องหาให้แก่พนักงานสอบสวนประจำท้องที่สถานีท่าสองยางดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์มีมาตรการควบคุม ป้องกันโรคระบาดสัตว์ โดยการปราบปรามการลักลอบนําเข้าและการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ภายในประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคระบาดสัตว์แพร่กระจายเข้าสู่ประเทศไทย และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการบริโภคสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์