พีระพันธุ์ อวดผลงานตรึงค่าไฟ 4.18 บาท เตรียมรื้อโครงสร้างน้ำมัน

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

”พีระพันธุ์“ อวดผลงานตรึงค่าไฟ 4.18 บาท เตรียมรื้อโครงสร้างน้ำมัน ดึงอำนาจกลับกระทรวงพลังงาน ดีเดย์ 15 เม.ย. 2567 เรียกผู้ค้าน้ำมันเผยต้นทุน

วันที่ 4 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงในที่ประชุมสภาฯ เกี่ยวกับปัญหาพลังงาน โดยเฉพาะนโยบายการลดค่าครองชีพประชาชนด้านพลังงาน ค่าน้ำมันหลังจากครบระยะเวลาตามที่รัฐบาลกำหนดไว้

ว่าเรามีอยู่ 2 ส่วน ได้แก่ ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน พร้อมระบุว่า ระบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นระบบที่มีมานานแล้ว ส่วนตัวก็ไม่พอใจและหลายเรื่องก็หาคำตอบไม่ได้ แต่ผมก็ไม่ได้ปล่อยให้เป็นอย่างที่ผ่านมา โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการหาวิธีแก้ไข เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ยั่งยืนกว่าเดิมในระยะยาว

สำหรับค่าไฟฟ้า ขอยืนยันว่ายังคงไว้ที่หน่วยละ 4.18 บาท ส่วนกลุ่มเปราะบางจะอยู่ที่หน่วยละ 3.99 บาท แต่ส่วนที่เป็นปัญหาคือราคาน้ำมัน ที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วก็พยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 30 บาท แต่ปัจจุบันใช้ระบบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันตั้งแต่ปี 2516 เป็นเวลากว่า 51 ปีมาแล้ว ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการเอาเงินไปรักษาระดับราคาน้ำมัน แต่เมื่อรูปแบบเป็นเช่นนี้ ผมจึงได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานพิจารณาศึกษาและปรับปรุงแก้ไขปัญหานี้

นายพีระพันธุ์เผยว่า โครงสร้างราคาน้ำมันจะประกอบด้วย 2 ส่วน โดยส่วนแรก คือ ราคาต้นทุนน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการเปิดเผยมาก่อน จึงได้มีการออกประกาศกระทรวงพลังงานว่า ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2567 เป็นต้นไป กำหนดให้ผู้ประกอบการค้าน้ำมันจะต้องแจ้งต้นทุนให้กระทรวงพลังงานทราบ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการแจ้งราคาต้นทุนน้ำมัน เมื่อทราบแล้วจะปรับปรุงรูปแบบการทำงานและโครงสร้างราคาน้ำมันให้ดีขึ้น

อีกส่วนหนึ่งคือ ภาษีน้ำมันที่มีมูลค่าสูงไม่ต่างจากราคาต้นทุนน้ำมันตามโครงสร้างปัจจุบัน เช่น ราคาน้ำมันลิตรละ 40 บาท ภาษีน้ำมันจะอยู่ที่ประมาณ 20 บาท ทำให้เห็นว่าราคาน้ำมันที่แพงไม่ได้มาจากต้นทุนน้ำมันเพียงอย่างเดียว

นอกเหนือจากเรื่องภาษีแล้ว ยังมีเรื่องราคาพืชเศรษฐกิจพลังงานที่นำมาผสมเป็นน้ำมันไบโอดีเซล อาทิ ปาล์ม อ้อย และมันสำปะหลัง ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าราคาน้ำมัน จึงกลายเป็นว่าตอนนี้เราเอาส่วนผสมที่มีราคาแพงมาผสม ซึ่งก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องหาแนวทางแก้ไข

สำหรับการจัดเก็บภาษีน้ำมัน เป็นภาษีสรรพสามิตที่กระทรวงการคลังเป็นคนเก็บ แต่ความรับผิดชอบดูแลด้านราคากลับตกมาอยู่ที่กระทรวงพลังงาน และที่น่าแปลกคือคณะกรรมการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะมีอำนาจกำหนดเพดานการจัดเก็บ ทว่าขณะนี้อำนาจดังกล่าวหายไป ฉะนั้นต้องมีการแก้ไขเพื่อให้กระทรวงพลังงานมีอำนาจกำหนดเพดานการจัดเก็บภาษีน้ำมัน

หากกระทรวงพลังงานมีอำนาจกำหนดเพดานภาษีเองได้ ก็จะช่วยเพิ่มกลไกในการบริหารจัดการราคาน้ำมัน นอกเหนือจากการให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใช้เงินอุดหนุน