ขาดดุลจีน 2.82 แสนล้าน แค่ตั้งการ์ดภาษี…พอหรือยัง ?

ต้องยอมรับว่าจีนคือคู่ค้าคนสำคัญของไทย ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวเช่นกัน ด้วยจีนมีแต้มต่อมากกว่าเพราะมีความพร้อมทั้งวัตถุดิบ ซัพพลายเชน ในการผลิตสินค้า ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำส่งผลให้สินค้ามีราคาถูก บวกกับช่องทางการตลาดที่เปิดกว้างการค้าขายออนไลน์ ยิ่งกลับทำให้สินค้าจีนทะลักเข้าไทยง่ายขึ้น

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในปี 2566 ไทย-จีน มีมูลค่าการค้า 3.64 ล้านล้านบาท ไทยเป็นฝ่ายนำเข้าจากจีน 2.47 ล้านล้านบาท ส่งออก 1.17 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ไทย ขาดดุลการค้าจีน 1.3 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ท็อป 10 สินค้าจีนถล่มไทย

ขณะที่สถานการณ์ล่าสุดในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) 2567 ไทย-จีน มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 601,049 ล้านบาท ไทยนำเข้า 441,560 ล้านบาท และส่งออก 159,488 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยยังคงเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าให้จีน 282,071 ล้านบาท

โดยท็อป 10 สินค้าหลักที่ไทยนิยมนำเข้าจากจีน มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2 เดือนแรก เรียงตามสัดส่วนการนำเข้า ได้แก่ 1) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 56,569 ล้านบาท ขยายตัว 24.04% คิดเป็นสัดส่วน 12.81% ของการนำเข้าสินค้าจีนทั้งหมด 2) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 42,890 ล้านบาท ขยายตัว 35.32% คิดเป็นสัดส่วน 9.71% 3) เคมีภัณฑ์ 36,751 ล้านบาท ขยายตัว 10.73% คิดเป็นสัดส่วน 8.32%

4) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 22,476 ล้านบาท ขยายตัว 8.31% คิดเป็นสัดส่วน 5.09% 5) สินแร่โลหะอื่น ๆ และเศษโลหะและผลิตภัณฑ์ 17,599 ล้านบาท ขยายตัว 14.69% คิดเป็นสัดส่วน 3.99% 6) ผลิตภัณฑ์โลหะ 16,091 ล้านบาท ขยายตัว 9.66% คิดเป็นสัดส่วน 3.64%

7) ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก 14,522 ล้านบาท ขยายตัว 33.12% คิดเป็นสัดส่วน 3.29% 8) แผงวงจรไฟฟ้า 13,467 ล้านบาท ขยายตัว 21.57% คิดเป็นสัดส่วน 3.05% 9) สินค้าอื่น ๆ 13,392 ล้านบาท ขยายตัว 76.65% คิดเป็นสัดส่วน 3.03% และ 10) เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งในบ้านเรือน 8,336 ล้านบาท ขยายตัว 45.79% คิดเป็นสัดส่วน1.89%

สินค้าด้อยคุณภาพทะลัก

อีกด้านหนึ่งในปี 2566 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ตรวจสอบและจับกุมสินค้านำเข้าที่ด้อยคุณภาพ โดยเฉพาะที่นำเข้ามาจากประเทศจีน มูลค่าความเสียหายกว่าร้อยล้านบาท ซึ่งพบว่าสินค้าที่พบมากที่สุด อันดับ 1 คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงของใช้ในครัวเรือน เช่น โคมไฟ หลอดไฟ ไดร์เป่าผม มูลค่า 24,397,974 บาท

อันดับ 2 กลุ่มยานยนต์ เช่น ยางล้อ มูลค่า 9,456,498 บาท อันดับ 3 กลุ่มพลาสติก เช่น หลอด ฟิล์มห่ออาหาร มีมูลค่า 7,668,421 บาท อันดับ 4 กลุ่มเหล็ก มูลค่า 4,305,684 บาท รวมถึงการตรวจโกดังที่นำเข้าเหล็กแผ่นตัดรีดร้อน ไม่ได้มาตรฐานน้ำหนักรวม 1,133 ตัน มูลค่า 31,926,078 บาท

อันดับ 5 กลุ่มเครื่องมือแพทย์ เช่น หลอดฉีดยา เข็มฉีดยา ถุงมือแพทย์ ชุดตรวจวัดไข้ มูลค่า 3,024,845 บาท อันดับ 6 กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ตะปู กระเบื้อง สี มูลค่า 2,579,135 บาท อันดับ 7 กลุ่มโภคภัณฑ์มูลค่า 769,853 บาท

ไทย จีน

ส.อ.ท.จับตาผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพ เป็นสิ่งที่รัฐและเอกชนให้ความสำคัญต่อเนื่อง “นายเกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สินค้าจีนดัมพ์ราคา ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดไลน์การผลิต ความพยายามในการดิ้นรนเพื่อปรับตัวให้อยู่รอด จึงต้องหันไปใช้วิธีนำเข้าและติดแบรนด์เป็นของตัวเองเพื่อทดแทนไลน์การผลิตที่ปิดลง วิธีการในลักษณะนี้ย่อมคุ้มกว่าการลงทุนตั้งโรงงานและผลิตเอง แต่นี่ถือว่าเป็นภัยอันตรายของผู้ประกอบการไทยอย่างมาก และยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที

ซึ่งผลกระทบกับ 20 กลุ่มอุตสาหกรรม จากทั้งหมด 46 อุตสาหกรรม สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่พบว่าก็มีการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ซึ่งสะท้อนว่าการผลิตสินค้าในประเทศจะลดลงเรื่อย ๆ หากปล่อยไว้จะกลายเป็นผู้ประกอบการเลือกปิดไลน์การผลิต และจะหันไปนำเข้าสินค้าแทน โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs

เก็บ VAT สินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500

ซึ่งต้องยอมรับว่า ภาคเอกชนได้มีการขับเคลื่อนเสนอแนวทางขอให้ภาครัฐ พิจารณามาตรการสกัดกั้นสินค้าด้อยคุณภาพที่ทะลักเข้ามาถล่มตลาดด้วยราคาที่ถูก โดยการปรับเงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์เขตปลอดอากร (Free Zone) เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับสินค้าสำแดงเท็จที่นำเข้าผ่านด่านศุลกากร โดยสนับสนุนเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสแกนสินค้า ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ควรใช้วิธีการสุ่มตรวจ ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ยังคงมีสินค้าหลุดรอดออกมาได้จนถึงทุกวันนี้

“การแก้ปัญหาจำเป็นต้องใช้มาตรการยาแรงจากภาครัฐ ที่ผ่านมาอย่างมาตรการจากกระทรวงการคลัง ที่กำลังพิจารณาการเตรียมที่จะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ภายในเดือนพฤษภาคม 2567 นี้ คู่ไปกับงานด้านศุลกากรที่ต้องตรวบสอบเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ในปริมาณที่มากกว่าปกติ โดยเพิ่มเป็น 70-100%”

ในฝั่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนด มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ตรวจควบคุมใบอนุญาตนำเข้าให้เข้มงวด ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ที่ต้องใช้มาตรการตามกฎหมาย ทั้งการออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Measures : AD) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนตลาด (Anti-Circumvention : AC) หรือแม้แต่มาตรการเซฟการ์ด (SG) เพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม

ตั้งการ์ดอาจจะยังไม่พอ

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นกลุ่มตัวอย่างกลุ่มหนึ่งที่ได้มีการเรียกร้องให้ออกมาตรการด้านภาษีเอดี และเซฟการ์ดมาช่วยเหลือมากที่สุด 26 เคส เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ ได้รับความเสียหายจากการทุ่มตลาด ส่งผลให้ราคาเหล็กที่ผลิตในไทยถูกกดราคาอย่างหนัก ร่วงเฉลี่ยต่อปี 5-10% จนทำให้กำลังการผลิตเหล็กในประเทศลดลงเหลือเพียง 30% เท่านั้น

และที่สำคัญ โรงงานเหล็กจากจีนยังได้สยายปีกเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ตั้งร้านค้าเหล็กเอง และนำเข้าสินค้าจากจีนมาจำหน่าย โรงงานเหล็กเริ่มยืนหยัดไม่ไหว ต้องปิดตัวไปอย่างกรณีโรงเหล็กกรุงเทพที่ปิดฉากกิจการที่ก่อร่างสร้างตัวมายาวนานเกือบ 60 ปี

แต่ทว่าการใช้มาตรการกำแพงภาษีเอดี หรือเซฟการ์ด ก็อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะเป็นเพียงมาตรการต่อลมหายใจชั่วคราวให้เอกชนไทยลุกขึ้นสู้ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรม

ซึ่งกลุ่มเหล็ก นำโดย นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เข้าพบ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา เพื่อยื่นข้อเสนอและวางทางออกในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในอนาคต

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน ระบุว่า ปัญหาเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นแรงผลักดันให้สินค้าจีนที่ผลิตจนโอเวอร์ซัพพลายทะลักเข้ามาในอาเซียน รวมถึงไทย ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าไทยขาดดุลการค้ากับจีน

แต่อยากให้มองถึงอีกด้านว่า สินค้าที่ไทยนำเข้ามานั้นเป็นวัตถุดิบที่ไทยสามารถใช้ผลิตต่อเพื่อสร้างรายได้กลับมายังประเทศไทยหรือไม่ โดยจะต้องลงไปพิจารณาถึงรายละเอียดของสินค้านำเข้าว่าไทยขาดดุลการค้าเพราะสินค้าอะไร ซึ่งหากไทยปรับโครงการผลิต ดึงจีนเป็นพันธมิตรมาลงทุนผลิตสินค้าร่วมกัน ไทยอาจจะได้ประโยชน์จากทั้งค่าเช่าที่ดิน การจ้างแรงงาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือไม่

หลังจากนี้หวังอย่างยิ่งว่า ภาครัฐอาจต้องหันมากำหนด “จุดยืน” ทิศทางการค้าและการลงทุนไทย-จีน ควรเป็นอย่างไร จะสกัดหรือจับมือเดินไปด้วยกันอย่างไร

แต่สำหรับในมุมผู้บริโภคแล้ว ควรปลูกฝังความตระหนักรู้ ให้รับทราบถึงผลกระทบของการใช้สินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ ต้องรู้จัก “ฉลาดซื้อ” ก่อนเป็นอันดับแรก