วิธีสกัดทุนจีนศูนย์เหรียญ ลดขาดดุล เติบโตยั่งยืน

ทุนจีน
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กษมา ประชาชาติ

ข่าวการค้นพบกากแร่แคดเมียมในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี และตาก ปริมาณกว่าหมื่นตันที่เชื่อมโยงถึง “บริษัทจีน” ยิ่งเป็นการตอกย้ำสังคมให้ตั้งคำถามว่าทุนจีนเข้ามา ไทยได้ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่

ในปี 2566 นักลงทุนจีนขอรับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อันดับ 1 จำนวน 430 โครงการ มูลค่า 159,387 ล้านบาทจากภาพรวมทั้งหมด 848,318 ล้านบาท โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอีวี อิเล็กทรอนิกส์ ยา พลังงานทดแทน เป็นต้น

แม้ว่าจะลงทุนมาก แต่การนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนก็สูงมาก ในปี 2566 มูลค่า 2.43 ล้านล้านบาท เทียบกับการส่งออกไปจีนเพียง 1.17 ล้านล้านบาท จึงทำให้ไทยขาดดุลการค้าจีน 1.3 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ในมุมเลขาธิการคณะกรรมการบีโอไอ “นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” มองว่า คลื่นทุนจีนหลั่งไหลออกมาหลังจากเกิดปัญหาสงครามการค้า กำลังเป็นโอกาสให้กับประเทศในอาเซียน ที่ต่างก็แย่งกันดึงดูดการลงทุน เพราะจีนพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีไปอย่างมาก โดยเฉพาะอีวี หากไทยสามารถดึงทุนจีนเข้ามาได้ ไทยมีโอกาสที่จะขยับเป็นศูนย์กลางการผลิตรถอีวีในภูมิภาค คล้ายกับที่ไทยเคยเป็นฐานผลิตรถยนต์สันดาปเมื่อ 30-40 ปีก่อน

บีโอไอไม่ใช่เพียงมอบ “สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน” ให้กับนักลงทุนที่เข้ามาอย่างเดียว แต่บีโอไอยังทำหน้าที่สะพานเชื่อมทุนจีน-ทุนไทย โดยดึงผู้ผลิตไทยไปอยู่ในซัพพลายเชนของจีนด้วยเช่น BYD เจรจากับผู้ผลิตไทย 126 บริษัท และเป็น SMEs 61 บริษัท มีมูลค่าการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม 22,062.5 ล้านบาท
NETA ก็เจรจากับบริษัทไทย 46 บริษัท ซึ่งเป็น SMEs 11 บริษัท มีมูลค่าการซื้อ 877.5 ล้านบาท เอ็มอี ซื้อชิ้นส่วนจากไทย 85 บริษัท 1,380 ล้านบาท

ด้าน “ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล” ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีนระบุว่า สินค้าจากจีนที่โอเวอร์ซัพพลายจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จึงขายมาในอาเซียน ไทยขาดดุลการค้าให้จีนมากขึ้น แต่ขอให้มองลงไปในรายละเอียดของสินค้านำเข้า หากเป็นวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิต 10 บาท ทำรายได้ 100 บาท นั่นคือไทยได้ประโยชน์

“ไทยควรปรับโครงสร้างลดการผลิต หันไปนำเข้ามาจำหน่าย และดึงผู้ผลิตจากจีนเป็นพันธมิตรร่วมกัน จะทำให้ไทยได้รายได้ค่าที่ดิน การจ้างงาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี”

“เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า ส.อ.ท.มุ่งพัฒนาความสามารถการแข่งขันของสมาชิก ขณะเดียวกัน ส.อ.ท. ได้จัดตั้งสถาบัน Thai-Chinese Economic and Institute เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงนักลงทุนจีนกับไทยด้วย

“นักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตไปในประเทศใด ๆ มักมองว่าจะทำอย่างไรที่จะสามารถสร้างโรงงาน และผลิตสินค้าออกไปจำหน่ายให้ได้เร็วที่สุด จึงนำเข้าสินค้าจากประเทศตัวเองมาผลิต หรือแม้แต่ช่างมาเอง เรียกว่ายกโรงงานสำเร็จรูปเข้ามาประกอบในไทย เพื่อให้ผลิตสินค้าได้เร็วขึ้น นี่จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะไปนำเสนอว่า ไทยมีอุตสาหกรรมที่พร้อมจะเชื่อมโยงกันได้”

บทสรุปเรื่องการปราบทุนจีนศูนย์เหรียญด้วยจำกัดการลงทุน อาจจะไม่ใช่ทางออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะการก้าวคนเดียวอาจจะไปได้เร็ว แต่ถ้าก้าวไปพร้อมกันอาจจะไปได้ไกล