“ดร.สาโรจน์ วสุวานิช” ทุนจีนที่ทำ EV ไม่ต่างทัวร์ศูนย์เหรียญ

ดร.สาโรจน์ วสุวานิช

8 จังหวัดภาคตะวันออก ถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร ที่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทยจากการส่งออกสินค้าปีละหลายแสนล้านบาท โดยมีองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนช่วยกันขับเคลื่อน

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ดร.สาโรจน์ วสุวานิช” รองประธานกิตติมศักดิ์ บมจ.ไทยซัมมิทกรุ๊ป และกรรมการและประธานกิตติมศักดิ์ บมจ.ไทยซัมมิท ฮาร์เนส ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

หนึ่งในองค์กรที่ช่วยขับเคลื่อนในด้านต่าง ๆ ในโอกาสที่ ดร.สาโรจน์ดำรงตำแหน่งมาครบวาระ 4 ปี และต้องการฝากไม้ต่อให้ประธานคนใหม่มาสานงานต่อ

Q : ผลงานช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

สภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกมีกรอบความรับผิดชอบพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออก แบ่งเป็น ภาคตะวันออก 1 ประกอบด้วย 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี, ระยอง, ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้ผลักดันโครงการ BCG Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Biocircular-Green Economy) โ

ดยมีสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีเป็นแม่งานหลัก ตอนนี้ BCG ครอบคลุมในเรื่องคาร์บอนเครดิต เพราะในอนาคตการส่งออกจะมีการเก็บภาษีคนที่ปล่อยคาร์บอนสูง แต่ตอนนี้เรื่องคาร์บอนเครดิตหลายคนยังไม่เข้าใจ ขณะที่มาตรฐานการวัดต่าง ๆ ของแต่ละอุตสาหกรรมยังไม่ชัดเจน ต่อไปต้องมีสถาบันกลางมาเป็นตัวรับรอง

ส่วนภาคตะวันออก 2 ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือ จันทบุรี, ตราด, สระแก้ว, ปราจีนบุรี, นครนายก มีโครงการ Eastern Thailand Food Valley มีสภาอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรีเป็นแม่งานหลัก และตอนนั้นได้รับการสนับสนุนจาก ส.อ.ท. และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จันทบุรี มีงบฯบางส่วนลงมาสนับสนุนด้วย ก็พยายามผลักดันกันต่อไป รวมถึงโครงการเรื่องเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อรองรับพืชผลเกษตรต่าง ๆ ที่จะเข้ามา ถ้ามีอุตสาหกรรมเข้ามาจะช่วยเพิ่มมูลค่าต่าง ๆ

Q : นโยบาย EEC รัฐเดินมาถูกทางหรือไม่

จริง ๆ ก็มาถูกทาง อย่างเมื่อปี พ.ศ. 2525 ถ้าไม่มีอีสเทิร์นซีบอร์ดจะไม่มีวันนี้ แต่เราต้องเรียนรู้จากอีสเทิร์นซีบอร์ด บกพร่องเรื่องอะไรก็มาปรับ เมื่อมีนักลงทุนมาลงทุนในไทย ธุรกิจภายในประเทศเติบโต ได้ขายแรงงาน แต่เรื่ององค์ความรู้ เรื่องโนว์ฮาวที่ผ่านมา มันไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมไทยเท่าที่ควร ต่อไปต่างชาติเข้ามาลงทุน ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เราด้วย เหมือนรัฐบาลจีน หากต่างชาติเข้าไปลงทุน ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คนจีนด้วย อินเดียก็เหมือนกัน ทำให้ปัจจุบันอินเดียสามารถผลิตรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ได้ เพราะโนว์ฮาวอยู่ในประเทศอินเดีย แต่ของไทยพอต่างชาติย้ายไป โนว์ฮาวก็ไปด้วย

นอกจากนี้ โครงการที่รัฐบาลนำเสนอไว้เป็นเรื่องที่ดี เช่น จะสร้างเมืองดิจิทัล ทำโครงการรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 สนามบิน แต่ต้องควบคุมอย่างไรให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ อย่างรถไฟความเร็วสูง ดูเเล้วเหมือนจะไม่เกิดแล้ว ตรงนี้ต้องแก้ปัญหา ท่าเรือมีความคืบหน้าก็ช้า ทำอย่างไรให้คนไทยได้ประโยชน์มากกว่านี้

Q : ทุนจีนที่มาตั้งโรงงาน แต่นำซัพพลายเชนเข้ามา ไม่ซื้อของไทย

รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากจีนที่เข้ามาทุกวันนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับทัวร์ศูนย์เหรียญ เพราะจีนที่มาตั้งโรงงาน เอาเครือข่ายที่ผลิตชิ้นส่วนเข้ามาทั้งหมด ไม่ซื้อกับบริษัทคนไทยเลย ต่างกับบริษัทญี่ปุ่นที่ยังแบ่งให้คนไทยบ้าง แต่ว่าจีนไม่แบ่งเลย รวมถึงธุรกิจอื่นที่จีนเข้ามาเช่นเดียวกัน

โอกาสจะทำการค้ากับบริษัทจีนยาก ตอนนี้รัฐบาลไทยลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาทั้งคัน และชิ้นส่วนไปอีก 1 ปี (สิ้นสุด 31 ธ.ค. 68) เท่ากับช่วงนี้รถไฟฟ้ายี่ห้อต่าง ๆ ที่นำเข้ามาขายในประเทศไทยได้กี่แสนคัน เท่ากับการกินส่วนแบ่งตลาดของรถสันดาปค่ายญี่ปุ่นไป กระทบถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนรถสันดาปของคนไทยได้รับผลกระทบ 3 แสนชิ้นเช่นกัน เพราะตอนนี้ค่ายรถญี่ปุ่นปรับแผนลดการผลิตลง ส่งผลกระทบให้ยอดขายชิ้นส่วนของบริษัทคนไทยลดลงไปด้วย พวกเราต้องเตรียมปรับแผนจากยอดค้าที่ลดลง

Q : ผู้ผลิตชิ้นส่วนแอร์ ตู้เย็นก็กระทบ

ตอนนี้ผู้รับเหมาก่อสร้างก็โอดครวญกัน จีนมาสร้างโรงงาน ซื้อวัตถุดิบของไทยอย่างเดียวคือ ปูนซีเมนต์ นอกนั้นเหล็ก วัสดุ วัตถุดิบอื่นนำเข้าจากจีนหมด และซื้อของคนจีนด้วยกันเองทั้งหมด เช่น ผนังมีโรงงานหล่อมาตั้งเรียบร้อย คนงานใช้แรงงานจีน โดยขออนุญาตบีโอไอว่าเป็นช่างเทคนิคพิเศษมาเป็น 100 คน โดยบอกว่า ไม่สามารถใช้แรงงานคนไทย เพราะไม่สามารถอ่านภาษาจีนได้ จะมีปัญหา

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ แอร์ ตู้เย็น ชิ้นส่วนไมโครเวฟ ฯลฯ SMEs ไทยได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนมาดัมพ์ราคาขายถูกกว่าสินค้าไทย 35-50% SMEs ไทยสู้ไม่ไหว ยิ่งทำยิ่งจน ยอดขายหายไป 30% ยกตัวอย่างเมื่อก่อน SMEs ไทยขายชิ้นส่วนอุปกรณ์ให้โรงงานประกอบตู้เย็น ไมโครเวฟ ชิ้นละ 100 บาท จีนขายชิ้นละ 60-70 บาท พวกบริษัทก็หันไปซื้อสินค้าจีน เท่าที่ทราบรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกได้คืนภาษีต่าง ๆ

แต่สินค้าจีนคุณภาพไม่ค่อยดี เสียหายเคลมไม่ได้ ทำให้ผู้ผลิตแอร์ ตู้เย็นบางรายหันกลับมาซื้อ SMEs ไทย ยอมซื้อแพง คุณภาพดี บริการดีกว่า ไม่ต้องสต๊อกสินค้า ส่งได้ทันที มีปัญหาพร้อมแก้ไข ต่างกับจีนขายขาด ไม่มีบริการหลังการขาย

Q : อยากฝากอะไรถึงรัฐบาล

ผมเคยพูดกับทาง EEC ว่าทำไมไม่สนับสนุนจูงใจคนต่างชาติที่มาลงทุนทำธุรกิจในบ้านเราซื้อขายสินค้านักธุรกิจไทย ได้รับคำอธิบายว่าบทบาทอีอีซีทำหน้าที่พัฒนาเชิงพื้นที่ให้เจริญ ให้มีโครงการสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่รัฐกำหนด ขณะที่ก่อนหน้านี้ผมไปคุยกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีไอโอ) เรื่องให้ต่างชาติมาซื้อสินค้าคนไทยบ้าง

ทางบีโอไอบอกว่า ประเทศไทยต้องเป็นเด็กดีขององค์การการค้าโลก (WTO) ต้องยึดหลักการค้าเสรี รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงเดี๋ยวจะถูกเล่นงานเอาว่า ไทยไม่เป็นธรรม กรอบเหล่านี้เราพอเข้าใจ แต่หลายประเทศช่วยคนในประเทศ หากชวนต่างชาติมาลงทุน แต่อุตสาหกรรมของคนไทยทั้งหมดกำลังจะตกไปอยู่ในมือต่างชาติที่มาลงทุน เพราะไม่มีใครดูแล ทั้งที่พื้นที่อีอีซีเป็นพื้นที่พิเศษ มีกฎหมายพิเศษ อีอีซีน่าจะทำเรื่องเหล่านี้ได้ ต้องจูงใจแบบไหนให้มาซื้อสินค้าคนไทย

ยกตัวอย่างรัฐบาลอเมริกันมีข้อบังคับ ต้องค้าขายกับคนท้องถิ่น ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content) 10% กลุ่มประเทศแถบแอฟริกาใต้ มีวิธีการจูงใจให้เราทำการค้ากับคนท้องถิ่น โดยให้คนท้องถิ่นมาร่วมถือหุ้นด้วย จะให้คะแนนสูงขึ้นเท่ากับได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ยิ่งถ้าคนท้องถิ่นเป็นผู้หญิงจะให้คะแนนสูงขึ้นอีก จะได้รับสิทธิพิเศษมากขึ้น หากมีการจ้างคนงานที่เป็นผู้หญิงจะได้คะแนนสูงกว่าจ้างแรงงานผู้ชาย เขาหาวิธีจูงใจได้

ดังนั้น จึงอยากฝากหากรัฐบาลไทยควรมีการจูงใจต่างชาติ หากไม่สามารถทำทางตรง ต้องทำทางอ้อม เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติซื้อขายสินค้าของคนท้องถิ่น หรือร่วมทุนกับคนไทย ไม่ใช่บังคับเขา ไม่จำเป็นต้องให้สิทธิประโยชน์กับนักธุรกิจต่างชาติตรง ๆ อาจจะให้ในลักษณะอ้อม ๆ ก็ได้