ส.อ.ท. รับหน้าที่ ศูนย์กลางพัฒนาสื่อสาร-ส่งเสริมป้องกันปัญหา เหตุจากกากแคดเมียม

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอรัฐต้องเลือกโรงงานจำกัดกากที่มีประสิทธิภาพ ขอรับหน้าที่เป็นศูนย์กลางพัฒนาสื่อสาร-ส่งเสริมป้องกันปัญหา เหตุแคดเมียม เห็นปัญหาทั้งระบบตั้งแต่ภาครัฐ โรงงาน ประชาชนรับกรรม จับมือ กนอ. ดึงบริษัทชั้นนำในประเทศ  SCGC, IRPC, PTTGC, TCMA สนับสนุนเลือกใช้บริการ Waste Processer ที่ได้รับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor

วันที่ 12 เมษายน 2567 รายงานข่าวระบุว่า สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน และกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นต่อ กรณีการพบกากแคดเมียม ว่า 1.ผู้ก่อกำเนิดของเสีย(โรงงานถลุงแร่สังกะสีและแคดเมียมจังหวัดตาก) มีภาระความรับผิดตาม ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2566 โดยได้มีการดำเนินงานดังนี้

1.ในกรณีนี้มีการขออนุญาตนำของเสียออกนอกโรงงานกับอุตสาหกรรมจังหวัดแล้ว มีการขนกากแคดเมียมจากโรงงานถลุงแร่สังกะสี และแคดเมียมจังหวัดตาก  ซึ่งขุดขึ้นมาจากหลุมฝังกลบกากอันตราย (Hazardous waste) ของโรงงานต้นทาง ไปยังปลายทางโรงงาน 106 ที่ได้รับอนุญาตหลอมหล่ออะลูมิเนียม ที่จังหวัดสมุทรสาคร (ผู้รับบำบัดกากอุตสาหกรรม (Waste Processor–WP) จำนวน13,xxx ตัน ซึ่งในกรณีที่ของเสียยังไม่ได้รับการบำบัดแล้วเสร็จผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator–WG) จึงยังมีความรับผิดตาม ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2566 ตามรายงานอีไอเอของโรงงานถลุงสังกะสี จังหวัดตาก ได้ระบุว่าเป็นกากอุตสาหกรรมอันตราย ให้ฝังกลบแบบถาวร

2.ผู้รับบำบัดกาก (โรงงานประเภท 106 และรับหลอมหล่ออะลูมิเนียมจังหวัดสมุทรสาคร) กากของเสียต้องมีการจัดการตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรมและต้องทำ Mass Balance เพื่อป้องกันการสูญหายจากกระบวนการรีไซเคิล ซึ่งกรณีนี้แสดงให้เห็นว่าการจัดทำ ควรต้องมีระบบรายงานทันเหตุการณ์ มากกว่าระบบ offline ดังเช่นในปัจจุบัน

ส่วนในทางกฎหมายร้านค้าของเก่าไม่สามารถ รับของเสียอันตรายโรงงาน 106 ได้ใน กรณีเกิดจากการขาดความรู้เกี่ยวกับของเสียอันตรายที่ถูกต้อง และการกำกับดูแลร้านค้าของเก่าไม่ทั่วถึง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการสื่อสารให้ความรู้ที่ถูกต้องมากขึ้น  รวมถึงการกำกับดูแลที่ชัดเจนมากขึ้น

ในกรณีนักลงทุนต่างชาตินำกากของเสียไปหลอมหรือส่งออกไปในช่องทางที่ไม่ถูกต้อง โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนเป็นโรงงาน กรณีนี้จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพราะเป็นต้นเหตุของปัญหาหลายเรื่อง นอกจากเรื่องแคดเมียมในปัจจุบันรวมทั้งเป็นปลายทางให้กับร้านขายของเก่า

ทั้งนี้ ในมุมของการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance: CG) ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐเอกชนทุกระดับตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางต้องตระหนัก หลัก Corporate Governance : CG ในการปฏิบัติงานที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เป็นธรรม เพื่อสามารถติดตามเส้นทางและป้องกันการสูญหายระหว่างทาง และสามารถควบคุมผลกระทบที่อาจจะมีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้

3.มาตรการของ ส.อ.ท. เพื่อป้องกันปัญหาระยะยาวจากบทเรียนนี้ ประเด็นสำคัญคือโรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม (Waste Generator– WG) มีภาระความรับผิดในระยะยาวตามกฎหมาย ดังนั้นจึงต้องเลือกผู้บำบัดจำกัดกากอุตสาหกรรม (Waste Processor–WP) ที่น่าเชื่อถือและมีระบบการจัดการที่ได้มาตรฐาน

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ออกมาตรฐานและมอบตราสัญลักษณ์ Eco Factory for Waste Processor ซึ่งจะช่วยให้ผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรมสามารถแยกแยะผู้ประกอบการโรงงาน บำบัดกำจัดและรีไซเคิลของเสียที่มีคุณภาพ ไม่มีคุณภาพ ออกจากกันได้ชัดเจน

ปัจจุบันมีโรงงานบำบัดกำจัดและรีไซเคิลของเสียได้รับการรับรอง Eco Factory for Waste Processor ทั้งสิ้น 16 แห่ง และอยู่ระหว่างการเตรียมขอการรับรองอีก 16 แห่ง

ภายในปี 2568 โรงงาน 101 105 และ 106 ที่เป็น สมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (จำนวน 76 แห่ง) และโรงงาน 101,105 และ106 ในนิคมอุตสาหกรรม จะเข้าสู่ระบบทั้งหมดซึ่งเกินกว่า  80% ของผู้ให้บริการบำบัดกำจัดและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมในตลาด จะทำให้โรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียสามารถคัดเลือกโรงงานปลายทางที่มีคุณสมบัติกำจัดและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้น และช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้มาก

นอกจากนี้ ส.อ.ท. และ กนอ.ได้เชิญชวน บริษัทชั้นนำในประเทศไทย 4 องค์กร(SCGC, IRPC, PTTGC, TCMA) และสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้ ส.อ.ท. 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ร่วมประกาศเจตนารมณ์การสนับสนุนเลือกใช้บริการ Waste Processer ที่ได้รับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Supply Chain)

และยังสนับสนุนการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ให้เป็นสมาชิกของ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อรวมศูนย์การพัฒนาสืบสานส่งเสริมและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ เนื่องจากอุตสาหกรรมประเภท 101, 105 และ 106 มีความอ่อนไหวต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน จำเป็นต้องมีศูนย์กลางพัฒนาสื่อสาร การส่งเสริมและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางในเรื่องนี้

เชื่อว่าจะเป็นการช่วยลดภาระการกำกับดูแลของภาครัฐลงได้อีกมาก ถ้าได้รับการส่งเสริมให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นศูนย์ดังกล่าวคู่ขนานไปกับกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ

นอกจากนี้ยังอยากให้มีการผลักดันแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ใช้ประโยชน์จากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ผลิตภัณฑ์พลอยได้ที่มีศักยภาพมาพัฒนาเป็นวัสดุหมุนเวียน (Circular Materials) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามคุณสมบัติของการสิ้นสุดความเป็นของเสีย  คือเป็นวัสดุที่มีวัตถุประสงค์การใช้งานเฉพาะ มีตลาดหรือความต้องการใช้ เป็นไปตามกฎหมาย หรือมาตรฐานที่มีคุณสมบัติทางเทคนิคตามข้อกำหนด และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยหรือสิ่งแวดล้อม โดยการต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อลดการนำกากของเสียไปฝังกลบ