เล็งผันน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 40-50 ลบ.ม. เจือจางความเค็มคลองประเวศบุรีรมย์

สทนช.ตั้ง “วอร์รูม” เฉพาะกิจผนึกกำลังบูรณาการวางแผน ผันน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 40-50 ลบ.ม. เจือจางความเค็มช่วยคลองประเวศบุรีรมย์ เดือดร้อน 23 หมู่บ้าน 3,428 ครัวเรือน ขีดเส้นภายใน เม.ย. กลับสู่ภาวะปกติ

วันที่ 18 เมษายน 2567 นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ภายหลังจาก สทนช.ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤต เพื่อแก้ปัญหาจากกรณีการพังทลายของทำนบดินชั่วคราว โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำและอาคารประกอบท่าถั่ว ต.บางกรูด อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2567 จนทําให้น้ำเค็มจากแม่น้ำบางปะกงไหลทะลักเข้าคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและพืชน้ำ รวมทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อประชาชน ให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร่งด่วนนั้น

ล่าสุดวันนี้ (18 เม.ย. 2567) ได้มีการประชุมหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤตครั้งที่ 1/2567 ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทางจังหวัดในการแก้ปัญหาดังกล่าว ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภายหลังการพังทลายของทำนบดินชั่วคราว ได้มีการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการซ่อมแซมทำนบดินชั่วคราวและติดตั้งบิ๊กแบ็กเสริมความมั่นคงปิดกั้นคลองประเวศบุรีรมย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา

พร้อมทั้งดำเนินการตอก Sheet Pile บริเวณด้านหน้าและหลังของทำนบดิน เพื่อความแข็งแรงในระยะยาวรองรับฤดูน้ำหลากที่กำลังจะมาถึง

ขณะเดียวกันได้เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพื่อบรรเทาปัญหาคุณภาพน้ำที่มีค่าความเค็มค่อนข้างสูงในหลายจุด รวมถึงกำจัดวัชพืชเพื่อชะลอการเน่าเสียของน้ำ นอกจากนี้ยังได้สร้างทำนบชั่วคราวเป็นระยะ ๆ เพื่อให้สามารถสูบระบายน้ำเค็มออกได้โดยเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

ส่วนการแก้ไขในระยะต่อไปนั้น ได้มีการวางแผนระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำใกล้เคียงมาช่วยเจือจางค่าความเค็มในแม่น้ำบางปะกง และฟื้นฟูคุณภาพน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ รวมทั้งคลองสาขา

โดยในเบื้องต้นจะพิจารณาการใช้น้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นอันดับแรก โดยจะผันน้ำมาประมาณ 40-50 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มาใช้เจือจางความเค็มและฟื้นฟูคุณภาพน้ำ

อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวเป็นการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ จำเป็นจะต้องเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำป่าสักก่อน แต่ถ้าหากปริมาณน้ำต้นในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีไม่เพียงพอ จะมีการพิจารณาขอใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มาใช้สนับสนุนเพิ่มเติมต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้ให้กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง และให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในขณะนี้ ได้มีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัยแล้ว ครอบคลุมพื้นที่ 23 หมู่บ้าน 6 ตำบล 2 อำเภอ คือ อ.เมืองฉะเชิงเทรา และ อ.บ้านโพธิ์ รวมประมาณ 3,428 ครัวเรือน เพื่อเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกร ตลอดจนชาวประมงที่เลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สทนช.ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมควบคุมมลพิษ กรมประมง สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) หน่วยงานทหาร กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสมุทรปราการ เป็นต้น ในการทำงานเชิงรุกแก้ปัญหาความเค็มรุกล้ำคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 2567 จนถึงปัจจุบัน สามารถจำกัดการแพร่กระจายของน้ำเค็มและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง

ขณะนี้ได้เร่งฟื้นฟูคุณภาพน้ำ และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ คาดว่าสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในเดือน เม.ย. 2567 พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง