ค่าครองชีพ ขยับรับค่าแรง 400 บาท พาณิชย์มั่นใจมีทางออก สร้างสมดุลได้

นภินทร ศรีสรรพางค์

นภินทร เผยปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทยังมีเวลาอีก 2 เดือนในการหามาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ การดูแลต้นทุนราคาสินค้า เพื่อให้เกิดความสมดุลกับทุกฝ่าย ด้านสุชาติ มองอย่ากังวลว่าค่าครองชีพขึ้น มั่นใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมดูแล

วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรณีการปรับขึ้นค่าแรง สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ต้องดู การสร้างความสมดุลให้กับราคาสินค้า เมื่อปลายทางสินค้าจะควรเป็นเท่าไร และการที่จะห้ามไม่ให้สินค้าขึ้นราคาก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ต้องดูความเหมาะสม ความสมดุลของแต่ละสินค้า ต้นทุนการผลิต ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็จำเป็นต้องเข้าไปดูในรายละเอียด รวมไปถึงกลุ่มสินค้า ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงด้วย

ทั้งนี้ เพื่อที่จะหามาตรการเหมาะสมเข้าไปดูแล ซึ่งก็อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าเมื่อค่าแรงที่ปรับขึ้นจะมีผลกระทบอะไรบ้าง พร้อมที่จะหาแนวทางแก้ไข รวมไปถึงค่าครองชีพของประชาชน รวมไปถึงราคาสินค้า ต้องมีการปรับขึ้นให้เหมาะสมแต่ละสินค้า

ดังนั้น ตอนนี้เรายังมีเวลาในการพิจารณา เพราะจากการติดตามการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทนั้น จะปรับขึ้นในอีก 2 เดือน คือ วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ซึ่งมีเวลาในการเตรียมความพร้อม นอกจากนี้ ยังพบว่าบางจังหวัดบางพื้นที่ ค่าแรงมากกว่า 400 บาทต่อวันอยู่แล้ว และการขึ้นค่าแรงไม่ได้หมายความว่า จาก 300 บาทเป็น 400 บาทต่อวัน แต่เป็นกว่า 300 บาทเป็น 400 บาทต่อวัน และบางจังหวัดก็ไม่ได้ขึ้น เนื่องจากค่าแรงนั้น 400 บาทอยู่แล้ว

“ยกตัวอย่าง จังหวัดราชบุรี ในตลาดศรีเมือง ค่าแรง 400-500 บาทอยู่แล้ว การขึ้นค่าแรงก็ไม่ได้กระทบต้นทุนสินค้ามากเท่าไร ซึ่งมองว่าอย่าเป็นห่วงล่วงหน้ามาก”

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลก็ต้องปรับเข้ากัน มีวิธีการเมื่อค่าแรงขึ้น หากกังวลว่าค่าครองชีพขึ้น ก็มีหน่วยงานที่จะเข้ามาดูแล และเชื่อว่าจากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะดูแลพี่น้องประชาชนและทุกฝ่ายได้ ซึ่งการปรับค่าแรงก็เพื่อต้องการให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ ค่าครองชีพก็ต้องลด ซึ่งเชื่อว่ากระทรวงแรงงานมีมาตรการเข้ามาดูแล แต่อย่างไรก็ดี คณะกรรมการไตรภาคีก็ต้องพิจารณาความเหมาะสมอยู่แล้ว

ADVERTISMENT

“การขึ้นค่าแรงก็ต้องเป็นธรรมทุกฝ่าย รวมไปถึงการดูแลเรื่องของต้นทุนสินค้า ไม่ใช่ว่าจะขึ้นอย่างเดียว ก็ต้องมีการหารือและให้ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคไปด้วยกันได้”

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา มองจากใจตัวเองแรงงานไทยจะต้องแข็งแรง สินค้าเกษตรพรีเมี่ยม ค้าขายดี จึงทำให้อยากเข้ามาทำงานที่กระทรวงพาณิชย์ และค่าแรงก็ถือเป็นต้นทุน 20-21% ของต้นทุนสินค้า หากไม่ขึ้นก็อาจจะสู้ไม่ได้ แต่ภาษี เช่น ประกันสังคมที่นายจ้างสมทบ ประเทศในอาเซียนจ้างถึง 15-20% ต้นทุนสูงกว่าไทย

ADVERTISMENT