ผุดนิคมประดับยนต์บุรีรัมย์ “อุตตม” เปิดทาง กนอ. จีบเอกชนร่วมลงทุน

“อุตตม” เปิดทางเอกชนลงทุนร่วม กนอ. ตั้งนิคม Motor Sport บุรีรัมย์ คว้าตลาด 50,000 ล้านบาท

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการประชุมหารือกับเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 คือ จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา และชัยภูมิ ในการลงพื้นที่ตรวจราชการระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2561 จังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 7-8 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์เสนอให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุปกรณ์ประดับยนต์ (Motor Sport) ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ เนื่องจากในจังหวัดมีความพร้อมทั้งในส่วนของสนามแข่งรถมาตรฐานระดับโลก มีการนำรถเข้ามาแข่งในพื้นที่จำนวนมาก และศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ท้องถิ่นมีความสามารถผลิตอุปกรณ์ประดับยนต์ส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยมีมูลค่าการผลิตกว่าปีละ 50,000 ล้านบาท

นอกจากนั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (CLMV) สูงขึ้น ทำให้มีการขยายตัวด้านยานยนต์ในกลุ่มประเทศดังกล่าว ผนวกกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย ทำให้อุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ ทั้งรถยนต์ และจักรยานยนต์ เติบโตขึ้นตามไปด้วย

สำหรับรูปแบบการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Motor Sport จะเปิดให้นักลงทุนเอกชนที่สนใจเข้ามาหารือ และศึกษาแนวทางร่วมกัน พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม จากนั้นทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะเข้าไปร่วมดำเนินการบริหารในรูปแบบของนิคมร่วมดำเนินการ

“เป็นไปได้สูงว่าการลงทุนตั้งเป็นนิคมจะเป็นนักลงทุนในท้องถิ่นมากกว่านักลงทุนนอกพื้นที่ โดยคาดว่าจะใช้พื้นที่ขนาดไม่กี่ร้อยไร่ หลังจากนี้ทางเอกชนจะคุยกันอีกครั้งทำแผนเสนอมาใหม่ ถ้าเป็นไปได้ก็จะกลับมาพิจารณาร่วมกันอีกครั้งถึงรูปแบบนิคม”

สำหรับผลสำรวจศักยภาพชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ เมื่อปี 2556 ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์สูงมาก และเป็นที่นิยมของต่างประเทศ ทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการ SMEs จากการศึกษาวิจัยพบว่าชิ้นส่วนที่ไทยมีศักยภาพเป็น product champion ได้ในกลุ่มรถยนต์ (ตามตาราง)

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ภาคเอกชนเสนอแผนการสร้างนิคมอุตสาหกรรม Motor Sport เข้ามาเพื่อหารือแล้วนั้น ในฐานะภาครัฐเห็นด้วยที่จะดึงศักยภาพของตลาดชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ของผู้ประกอบการขึ้นมา และพร้อมที่จะสนับสนุนทุกด้าน รวมถึงการช่วยแก้ปัญหาและอุปสรรคต่อการลงทุน

โดยหลังจากนี้จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาศึกษาถึงแผนความเป็นไปได้ในทางที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งรูปแบบอาจเป็นไปได้ทั้ง 1.นิคมอุตสาหกรรม 2.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งรูปแบบนี้จะเหมือนที่ จ.นราธิวาส กล่าวคือ ในพื้นที่ต้องการนิคมอุตสาหกรรมแต่ไม่มีนักลงทุนลงทุนสร้างจึงได้ให้ทาง กนอ.ต้องเข้าไปดำเนินการเองภายใต้คำสั่งตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) 3.เขตส่งเสริมพิเศษ ที่เคยใช้กับในพื้นที่ จ.ปทุมธานี เพื่อรับการส่งเสริมและสิทธิประโยชน์ที่เป็นพิเศษด้านต่าง ๆ ตามประกาศที่รัฐบาลสนับสนุน และ 4.รวมกลุ่มตั้งเป็นคลัสเตอร์

แหล่งข่าวในพื้นที่ภาคอุตสาหกรรมกล่าวว่า พื้นที่ของ จ.บุรีรัมย์ มีศักยภาพพร้อมทุกอย่าง แต่ปัญหาคือ SMEs ที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์มีมากน้อยเพียงใด เพราะการจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมไม่ใช่เรื่องง่าย หากมีจำนวนไม่มากอาจจะไม่คุ้มต่อการลงทุน อีกทั้งนักลงทุนต้องมีพื้นที่ที่ไม่ติดปัญหาผังเมือง ดังนั้น การลงทุนจะเอานิคมมาเป็นที่ตั้งของแผนหลักแล้วค่อยดึงผู้ประกอบการผลิตเข้ามาทีหลังไม่ได้ แนวคิดแบบนี้จะไม่สามารถทำให้แผนโครงการตั้งนิคมอุตสาหกรรม motor sport ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ สิ่งที่เอกชนควรทำนั่นคือ การคุยกันระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีอยู่ทั้งหมดก่อนว่าจะเข้ามาอยู่ในนิคมหรือไม่ หรือมีรูปแบบใดที่เหมาะสมกว่า เพราะหากตั้งนิคมแล้วไม่มีรายใดเข้ามาตั้งสุดท้ายก็ไม่เกิดประโยชน์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า นอกจากนี้การเสนอขอตั้งนิคมอุตสาหกรรมประดับยนต์แล้วทางภาคเอกชนยังเสนอให้ฟื้นฟูเหมืองแร่เก่าที่ได้เลิกกิจการแล้ว เพื่อพัฒนาเป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรและการท่องเที่ยวทางน้ำหรือ “สุรินทร์โมเดล” ในระยะแรกจะดำเนินการในพื้นที่27 ไร่ ความจุน้ำ 600,000 ลบ.ม. โดยผู้ประกอบการเหมืองหินที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจะทำการยื่นขออนุญาตประทานบัตรใหม่กับทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เพื่อขอตัดส่วนที่เป็นแนวกันชน (buffer zone) และรวมจำนวน 12 หลุมให้เป็น 1 หลุมขนาดใหญ่ รวมกว่า 860 ไร่ เพื่อที่จะทำอ่างเก็บน้ำได้ถึง 44 ล้าน ลบ.ม. และอยู่ระหว่างยื่นขออนุญาตกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอใช้พื้นที่

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ InlandContainer Depot (ICD) ใน จ.นครราชสีมา ที่เอกชนเสนอขอตั้งเป็นเขตประกอบการโกดังการซ่อมตู้คอนเทนเนอร์และโครงการด้านโลจิสติกส์อุตสาหกรรม เพื่อรองรับขยายด้านโลจิสติกส์จากฝั่งตะวันออก (ท่าเรือแหลมฉบัง) มายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย