รัฐวิสาหกิจจีนสนแลนด์บริดจ์ “คุนหมิง-เฉิงตู” สำรวจพื้นที่

Land Bridge
แหลมอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง

นักลงทุนจีนพาเหรดแห่ดูโครงการแลนด์บริดจ์ เดือนเดียวเข้ามา 2 คณะจาก “คุนหมิง-เฉิงตู” ลงพื้นที่จริงที่ท่าเรือชุมพร-ระนอง หวังเชื่อมเส้นทางขนส่งสินค้าจากจีนตอนใต้ผ่านท่าเรือน้ำลึกชุมพร-ระนองต่อไปประเทศที่สาม พร้อมนำร่องขนสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบทางบก คุนหมิง-เวียงจันทน์ กรุงเทพฯ-ระนอง ทดสอบระบบขนส่ง-ศุลกากร ก่อนตั้งคณะทำงาน 2 ฝ่าย มองเป็นโอกาสการเกิดแลนด์บริดจ์ของไทยที่จีนให้ความสนใจโครงการนี้เป็นพิเศษ

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ กำลังได้รับความสนใจจากรัฐบาลจีนเป็นพิเศษ โดยความสนใจนี้สอดคล้องกับนโยบาย One Belt One Road หรือ 1 แถบ 1 เส้นทางของจีน และยังเป็นการดำเนินการตามผลการหารือระหว่างนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กับนายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์จีน

และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาที่รัฐบาลไทยได้เชิญจีนเข้าร่วมโครงการแลนด์บริดจ์ เนื่องจากจีนเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของไทย และไทยยังพร้อมที่จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับนักลงทุนจีนด้วย

จีนพาเหรดดูสถานที่จริง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า ในวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเทศบาลเมืองคุนหมิง นำโดยนายหลิว หงเจียน (H.E. Mr.Liu Hongjian) กรรมการประจำคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลยูนนาน และเลขานุการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์เทศบาลเมืองคุนหมิงพร้อมคณะ 12 คน ได้เดินทางมาหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น พร้อมลงพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ ทั้งฝั่งอ่าวไทยที่ จ.ชุมพร และฝั่งทะเลอันดามันที่ จ.ระนอง

โดยการเดินทางมาของ Mr.Liu ครั้งนี้ถือเป็นการเดินทางมาดูสถานที่จริง ความเป็นไปได้ และโอกาสของจีนที่มีต่อโครงการนี้ รวมไปถึงการดำเนินการ “ทดสอบ” การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ระหว่างท่าบกคุนหมิง-เวียงจันทน์-กรุงเทพฯ-ระนองด้วย

Advertisment

“Mr.Liu ถือเป็นบุคคลสำคัญอันดับ 3 ของพรรคคอมมิวนิสต์ยูนนาน จากที่ก่อนหน้านี้ก็มีคณะจากจีนเดินทางเข้ามาหารือโครงการแลนด์บริดจ์ กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจีนให้ความสนใจกับโครงการนี้ในการเปิดเส้นทางการขนส่งสินค้าจากจีนตอนใต้ผ่าน สปป.ลาวและไทย เพื่อมาลงเรือที่ท่าเรือน้ำลึกทั้งฝั่งชุมพรและระนอง นอกเหนือไปจากการขนส่งสินค้าถ่ายลำ (Transshipment) ที่ขนส่งผ่านท่าเรือ 2 ฝั่งเชื่อมมหาสมุทรอินเดียเข้ากับมหาสมุทรแปซิฟิก”

เมื่อการหารือทั้ง 2 ฝ่ายที่ จ.ระนองสิ้นสุดลงที่ท่าเรือระนอง ตัวแทนผู้ขนส่งสินค้าฝ่ายไทยมีข้อเสนอให้ 1) มีการทดสอบระบบการขนส่งต่อเนื่องเต็มรูปแบบ เพื่อดำเนินการขนส่งสินค้าจากคุนหมิง-เวียงจันทน์ เข้ามายังหนองคาย ต่อเนื่องไปจนถึง จ.ระนอง โดยสินค้าที่ส่งเข้ามาจะถูกส่งต่อไปยังประเทศที่สามผ่านท่าเรือระนอง ปลายทางเมียนมา-ตะวันออกกลาง-อินเดีย เพื่อทดสอบการออกเอกสาร การขออนุญาต และกระบวนการศุลกากร 2) การตั้งคณะทำงาน 2 ฝ่าย ซึ่งฝ่ายจีนมีท่าทีตอบรับและจะหารือในรายละเอียดต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามคณะผู้เข้าร่วมการหารือ กล่าวว่า รัฐบาลไทยยังอยู่ระหว่างกระบวนการ “รับฟัง” ความคิดเห็นของนักลงทุนที่มีต่อโครงการแลนด์บริดจ์ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ การรับฟังความเห็นจากนักลงทุนจีน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ การรับฟังความเห็นที่ผ่านมาจากกลุ่มนักลงทุน ทั้งจากยุโรป-ตะวันออกกลาง และจีน อาจจะมีมุมมองโครงการนี้แตกต่างกันไป

ยกตัวอย่าง นักลงทุนจากยุโรปจะมองความคุ้มค่าโครงการในเรื่องของการประหยัดทั้งเวลาและต้นทุนขนส่งสินค้าทางเรือ ระหว่างการเดินเรืออ้อมแหลมมะละกา กับการขนส่งสินค้าเชื่อม 2 ฝั่งทะเลของโครงการแลนด์บริดจ์ ขณะที่นักลงทุนจีนมองไปถึงเส้นทางขนส่งสินค้าจากจีนตอนใต้ผ่านท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่ง ชุมพร-ระนอง หรือ North-South

Advertisment

พร้อมกับความเชื่อที่ว่า โครงการแลนด์บริดจ์ จะประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการคือ 1) การเชื่อม 2 ฝั่งทะเลระหว่างกลุ่มประเทศที่อยู่ทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่ กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มประเทศโอเชียเนีย กับกลุ่มประเทศที่อยู่ทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ กลุ่มประเทศเอเชียใต้ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศยุโรป และกลุ่มประเทศแอฟริกา ทั้ง 2 ฝั่งทะเลมีโอกาสจากการขนส่งสินค้าถ่ายลำ

2) อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นตลอดระยะทาง 89 กม.ที่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกระนอง กับท่าเรือน้ำลึกชุมพร และ 3) การเป็นฮับทางด้านพลังงานทั้งการขนส่งน้ำมันและก๊าซ

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า หลังคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์เทศบาลเมืองคุนหมิงของ H.E.Mr.Liu Hongjian เดินทางกลับไปไม่ถึงสัปดาห์ ทางสมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้าหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจากมณฑลเสฉวน หรือเฉิงตู จะนำคณะวิสาหกิจจีน เดินทางเข้ามายังประเทศไทยระหว่างวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2567 เพื่อลงพื้นที่สำรวจความเป็นไปได้ของโครงการแลนด์บริดจ์

โดยคณะจากนครเฉิงตูชุดนี้จะเข้าหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม รวมทั้งการท่าเรือแห่งประเทศไทย การลงพื้นที่สำรวจท่าเรือน้ำลึกที่จะสร้างขึ้นทั้งทางฝั่งชุมพรและระนอง และยังหารือกับธนาคารพาณิชย์ไทยด้วย

รูปแบบโครงการ

ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ให้ สนข.ศึกษาและออกแบบเบื้องต้น โครงการแลนด์บริดจ์ ในรูปแบบ Business Development Model โดยวางบทบาทของโครงการให้เป็นประตูการค้า (Gateway) รองรับการนำเข้า-ส่งออกของไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน กลุ่ม GMS รวมถึงจีนตอนใต้, เป็นทางเลือกในการถ่ายลำ (Transshipment) การขนส่งสินค้าระหว่างกลุ่ม BIMSTEC และประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก เชื่อมต่อทางรางและทางถนน และอุตสาหกรรมหลังท่า (Port Industry) โดยจะมีการตั้งเขตเศรษฐกิจเสรี ดึงดูดนักลงทุน

รูปแบบของโครงการจะประกอบไปด้วย 1) ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามันที่แหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนอง ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร ออกแบบให้รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs กับท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยที่แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร ออกแบบให้รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs 2) เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ 2 ฝั่ง ระยะทางประมาณ 90 กม. ประกอบไปด้วย ทางหลวงมอเตอร์เวย์ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทางรวม 21 กม., ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร จำนวน 2 ทาง รองรับการขนส่งตู้สินค้า 2 ชั้นบนแคร่ (Double Stack)

และทางรถไฟขนาดราง 1 เมตร จำนวน 2 ทาง เพื่อเชื่อมต่อระบบโครงข่ายทางรางหลักของประเทศ 3) พื้นที่สำหรับการวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติ และ 4) การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าด้วยการ “ถมทะเล” เพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ

สำหรับรูปแบบการพัฒนาโครงการจะเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งโครงการในลักษณะท่าเรือเดียวเชื่อม 2 ฝั่ง (One Port Two Sides) ความคืบหน้าของโครงการกำลังอยู่ในช่วงของการ Roadshow เพื่อรวบรวมข้อมูลจากนักลงทุน ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบของโครงการต่อไป ส่วนมูลค่าของโครงการแลนด์บริดจ์ทั้งโครงการ (4 เฟส) จะอยู่ที่ 1,001,206.47 ล้านบาท