เปเปอร์ กมธ.แลนด์บริดจ์ ผลตอบแทน 2.5 แสนล้าน คืนทุน 24 ปี

แลนด์บริดจ์

โครงการแลนด์บริดจ์ โปรเจ็กต์ 1 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน โรดโชว์ไปแล้วทั่วโลก

ปักหมุดไทยเป็นศูนย์กลางการค้า เป็นทางเลือกในการขนส่ง เชื่อม 2 เส้นทางเดินเรือ ไม่ต้องไปอ้อมช่องแคบมะละกาที่เริ่มแน่น

แม้ว่านายกรัฐมนตรีเดินหน้าโรดโชว์ต่างประเทศ โครงการแลนด์บริจด์กลับยังไม่เป็นที่รับรู้ ยังมีเสียงต้าน

สภาผู้แทนราษฎร จึงตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ขึ้นมาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อเสนอไปยังรัฐบาล

เหตุผลต้องมีแลนด์บริดจ์

คณะ กมธ.ศึกษาเหตุผลที่มีโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) ดังนี้ เหตุผลของการเสนอให้มีการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์นั้น มีลักษณะจุดแข็งของประเทศไทย สำคัญที่คาดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมาก ถ้านำจุดแข็งเหล่านี้มาสร้างมูลค่า หรือทำให้เป็นจุดเด่นทางด้านยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

Advertisment

1.ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค และเป็นประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค และระหว่างทวีปต่าง ๆ ของโลก ซึ่งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกับการดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์

ทั้งอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมอาหาร ต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ และอุตสาหกรรม New S-curve เป็นต้น เพื่อการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค และระหว่างทวีปต่าง ๆ ของโลก

2.ถ้าเกิดโครงการแลนด์บริดจ์อาจสามารถลดเวลาและระยะทางการขนส่งจากเดิมที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่ง

3.หลีกเลี่ยงปัญหาการติดขัดในการเดินเรือของช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง แชร์ส่วนแบ่งการเดินเรือและค่าธรรมเนียมจากช่องแคบมะละกา

Advertisment

4.มีแนวโน้มในการจูงใจผู้ประกอบการขนส่งและนักลงทุนให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางแลนด์บริดจ์นี้มากขึ้น เพราะสามารถย่นระยะเวลาในการเดินทางจากเส้นทางเดิมได้ประมาณ 5 วัน

5.เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย

“โดยสรุปแล้วเหตุผลของการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) เพราะว่าประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค และเป็นประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค และระหว่างทวีปต่าง ๆ ของโลก ซึ่งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกับการดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์ โดยลักษณะทางภูมิศาสตร์ภาคใต้ของประเทศไทยนี้ เป็นจุดแข็งที่ทำให้เกิดการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ลดเวลาและระยะทางการขนส่ง เป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยให้แลนด์บริดจ์เป็นเครื่องมือ หรือเป็นตัวนำในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้”

ผลตอบแทน 2.5 แสนล้าน คืนทุน 24 ปี

โครงการนี้คาดการณ์ว่าจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ดังนี้ มูลค่าปัจจุบัน (NPV) 257,453 ล้านบาท, อัตราผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) เท่ากับ 1.35, อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ร้อยละ 17.43, ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทางตรง ร้อยละ 9.52, อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ร้อยละ 8.62, มีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24

และจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่จำนวน 280,000 ตำแหน่ง โดยแบ่งเป็นจังหวัดระนองจำนวน 130,000 ตำแหน่ง จังหวัดชุมพร 150,000 ตำแหน่ง รวมทั้งเป็นส่วนช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี เป็นร้อยละ 5.5 ต่อปี

มีเป้าหมายให้ประเทศไทยพัฒนา 1.เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ และการลงทุนระดับนานาชาติ 2.เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้าและอุตสาหกรรม Green Mega Trend 3.ประสิทธิภาพของระบบ Digital Logistic Transportation Distribution 4.สร้างความเจริญ พัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกพื้นที่ สร้างรายได้ให้กับประเทศ ตลอดจนเพิ่ม GDP ของประเทศให้เพิ่มขึ้น 5.โอกาสของการจ้างงาน การเพิ่มรายได้

6.สิทธิประโยชน์ทางภาษี ศูนย์การค้าทางการเงิน ผู้นำด้านสิทธิประโยชน์ด้านภาษีสิ่งแวดล้อม 7.เป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 8.รายได้จากการลงทุนในแลนด์บริดจ์ 9.โครงการแลนด์บริดจ์ช่วยลดระยะทางการขนส่ง ซึ่งเป็นการย่นระยะเวลาและประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง

10.โครงการแลนด์บริดจ์ก่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่หลังท่า ด้วยอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง และกิจกรรมเชิงพาณิชย์อื่น ๆ 11.โครงการแลนด์บริดจ์เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ที่จะเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช

ควรตรากฎหมายเหมือน EEC

ในการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์จำเป็นจะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่เป็นไปตามกฎหมาย โดยคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตราเป็นพระราชบัญญัติที่คล้ายคลึงกับพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ จะต้องมีกฎหมายเฉพาะในการดำเนินการ นอกจากนี้แล้วจะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง และจะต้องพิจารณาพื้นที่ชุ่ม ภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์ด้วย

เช่น ในเขตอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์นี้จะต้องเกี่ยวข้องกับการตราพระราชบัญญัติและดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามที่ได้กำหนดไว้ เช่น การทำการศึกษา ความเป็นไปได้เบื้องต้น (Pre-feasibility Study) และ (Post-feasibility Study) จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และผลกระทบทางด้านสุขภาพ พระราชบัญญัติการเวนคืนที่ดิน (ถ้ามี) เป็นต้น จะต้องมีการประสานกับประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับ No Man’s Land บนพื้นที่ 3 เกาะ ซึ่งประกอบด้วย เกาะหลาม เกาะคัน และเกาะขี้นก

เอกชนยังกังวลความชัดเจน

ส่วนความคิดเห็นของเอกชนเกี่ยวกับการเดินเรือและการขนส่งสินค้านั้น ยังมีความกังวลกับความชัดเจนของโครงการ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะมีโครงการใหญ่ ดังเช่นโครงการแลนด์บริดจ์แม้จะมีกลุ่มประชาชนส่วนน้อยไม่เห็นด้วยก็ตาม

หน่วยงานในพื้นที่ไฟเขียว

และหน่วยงานในพื้นที่เห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะหวังว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ให้เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าทางการเกษตรในภาคใต้ ทั้งยางพารา มังคุด ทุเรียน ปาล์ม เป็นต้น ไปยังต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ยุโรป เป็นต้น

ตลอดจนให้เป็นศูนย์สนับสนุนการส่งออกอย่างครบวงจร ส่งเสริมให้เป็นเมืองแห่งสุขภาพ การท่องเที่ยวครบวงจร ส่งเสริมให้เป็นเกษตรกรรมที่ทันสมัยและยั่งยืน ซึ่งหากมีโครงการนี้ก็จะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับประชาชนในภาคใต้ และการมีท่าเรือจะทำให้เกิดการค้าการลงทุนระหว่างประเทศที่จะทำให้เศรษฐกิจภาคใต้ดีขึ้นแน่นอน

ดาวดวงใหม่ในการแข่งขัน

และภาคเอกชนมองในระดับประเทศ ว่าประเทศไทยจะเป็นดาวดวงใหม่ในการ แข่งขันในเวทีโลกได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และการเวนคืนที่ดินของประชาชนที่รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันให้ประชาชนพอใจ และควรเตรียมแผนการพัฒนาแรงงานในพื้นที่ เพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

ตลอดจนควรเตรียมวางแผนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประมงพื้นบ้าน และที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จะต้องมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบข้อมูลที่ชัดเจน และมีส่วนร่วมในโครงการแลนด์บริดจ์นี้ด้วย

ห่วงกระทบสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต

โดยสรุปแล้วโครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน การคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน คือท่าเรือฝั่งอ่าวไทยจังหวัดชุมพร เเละท่าเรือฝั่งอันดามันจังหวัดระนอง

โดยโครงการแลนด์บริดจ์เป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างกันด้วยระบบราง (รถไฟทางคู่) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์เป็นเครื่องมือ หรือตัวนำที่เป็นแม่เหล็กที่จะดึงดูดการลงทุนเพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมหลังท่าและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ และพัฒนาเศรษฐกิจในภาคใต้และประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของประชาชน ความชัดเจนเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดิน รวมทั้งการชดเชยต่าง ๆ เอกสารสิทธิในที่ดิน สวัสดิการต่าง ๆ หรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ผู้มีส่วนได้เสียจะได้รับ รวมถึงการจ้างแรงงาน การเตรียมความพร้อมแรงงาน การบริหารจัดการเกี่ยวกับน้ำและไฟฟ้า

หากรัฐบาลสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ชัดเจน และพิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการอย่างรอบคอบแล้ว อาจจะทำให้โครงการแลนด์บริดจ์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น