ปรับตัวรับมือการแข่งขัน

เมื่อบริษัทเห็นเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา “นายกิตติศักดิ์ เงินงอกงาม” ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ DELTA ฉายภาพว่า DELTA ปรับสัดส่วนของโมเดลธุรกิจให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยลดกลุ่มพาวเวอร์/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีสัดส่วนอยู่ที่ 70% เช่น switching power supply กล่อง CPU ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เหลือ 50% และไปเพิ่มในกลุ่มของการจัดการด้านพลังงานไฟฟ้าเป็น 25% เช่น ปุ่มควบคุมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ระบบในงานฐานข้อมูล (data) รวมถึงกลุ่มการบริหารจัดการด้าน smart green lite ให้มีสัดส่วนอยู่ที่ 25% เช่น ไฟ LED แผงโซลาร์เซลล์ อุปกรณ์การแพทย์

และด้วยนโยบายการลงทุนเพื่อพัฒนาสินค้าให้เป็นไปตามตลาดโลกที่ต้องการ เดลต้าฯหันปรับจากผู้ที่เป็น OEM และ ODM มาเป็น industry automation solution จากที่เคยผลิตชิ้นส่วนเป็นชิ้น ๆ เพื่อส่งไปป้อนให้กับบริษัทที่ประกอบเป็นตัวเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ การผลิตของชิ้นส่วนเล็ก ๆ ในอดีตสามารถตอบโจทย์ได้ดี แต่เมื่อมาถึงจุดที่ลูกค้าไม่ได้ต้องการเพียงชิ้นส่วน แต่ต้องการองค์ประกอบอื่นที่เข้ามาตอบโจทย์ครบทั้ง value chain เป็น solution ที่ครบทุกองค์ประกอบ อย่างการมีซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ครบทั้งระบบพ่วงไปกับชิ้นส่วน ที่จะใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และอาคารสำนักงาน

สำหรับแผนการลงทุนในปี 2561 นี้ บริษัทมีนโยบายเน้นเรื่องของโมเดลธุรกิจด้าน “smart green lite” มากขึ้น คือการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ภายในโรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา เพิ่มอีก 2 เมกะวัตต์ รวมของเดิมที่ปัจจุบันมีอยู่ในพื้นที่โรงงานนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ 2 เมกะวัตต์ และจะติดตั้งเพิ่มใน ก.ค.นี้อีก 1 เมกะวัตต์ ทำให้เดลต้าฯสามารถนำแผงโซลาร์เซลล์มาเพื่อใช้ในโรงงานและบริษัทของตนเองได้ถึง 5 เมกะวัตต์

ดังนั้น ทุกที่ของโรงงานเดลต้าฯ จึงไม่ได้ลงทุนเพื่อประหยัดต้นทุนและผลิตไฟใช้เองภายในโรงงานเท่านั้น แต่จะใช้เป็นแหล่งศึกษาต้นแบบให้กับโรงงาน และภาครัฐตาม “นโยบาย Energy 4.0” ที่จะประกอบไปด้วย สถานีชาร์จ (EV charger) โซลาร์เซลล์ (solar cell) เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (energy storage) และเมืองอัจริยะ (smart city) ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 4 จะปรับเปลี่ยนให้เดลต้าฯเป็นการใช้โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ต่างไปจากเดิม การมุ่งสู่พลังงานทดแทนที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แม้เดลต้าจะเป็นบริษัทชั้นนำแต่อุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ถือเป็นโอกาสทั้งหมดที่เดลต้าฯจะได้เข้าไปมีส่วนร่วม อุตสาหกรรมใดที่เดลต้าฯยังเข้าไม่ถึง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจต้องยอมรับว่ายังคงมีอุปสรรคจากภาครัฐ อย่างเช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ที่กำลังอยู่ระหว่างการร่างมาตรฐานใหม่ขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลาร่วมปีกว่าจะสำเร็จ รวมถึงมาตรการสนับสนุนการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ให้สิทธิประโยชน์กับหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น

ทั้งหมดนี้เชื่อว่า คือ การเปลี่ยนแปลงของภาครัฐที่เอื้อให้กับเอกชน แต่ในท้ายที่สุดผู้ที่มี knowhow คือผู้ที่ปรับตัวและอ่านเกมโลกได้ดีที่สุด