เวียดนามยังคึกคัก! “กระทรวงอุตสาหกรรม” พบนักธุรกิจไทย เผยเป็นปท.คู่แข่งที่น่ากลัว ศก.โตถึง7%

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเดินทางมายังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ 8 – 10 มิถุนายน 2561 เพื่อมาศึกษาดูงานความก้าวหน้าและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม การลงทุนของนักธุรกิจไทยในเวียดนาม ซึ่งประเทศเวียดนามถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยมายาวนาน และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง

โดยจากข้อมูลของสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2560 มูลค่าการค้าระหว่างไทย-เวียดนามประมาณ 563,251 ล้านบาท (ส่งออก 393,000 ล้านบาท นำเข้า 170,251 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 20 เป็นอันดับ 5 รองจาก จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และมาเลเซีย โดยมีสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกเป็นมูลค่าสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ (1) น้ำมันสำเร็จรูป (2) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (3) รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ (4) เม็ดพลาสติก และ (5) เคมีภัณฑ์ และสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าเป็นมูลค่าสูงสุด ได้แก่ (1) เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน (2) น้ำมันดิบ (3) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (4) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และ (5) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์​

และเวียดนามยังถือว่าเป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุนด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 6-7% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป ในปีที่ผ่านมาเวียดนามเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลอันดับสามของโลก รองจากประเทศจีนและประเทศอินเดีย มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 240,000 ล้านบาท ซึ่งซี.พี.เวียดนาม (C.P. Vietnam Corporation) ถือเป็นหนึ่งในบริษัทสัญชาติไทยที่มีโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำในเวียดนาม จำนวน 2 โรงงาน
​​

ทั้งนี้รัฐบาลเวียดนาม ยังมีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบให้ได้ถึง 25-30 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2563 ตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาพลังงานชาติ ซึ่งบริษัท SCG ได้เข้าไปถือหุ้นในโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในเวียดนาม (Long Son Petrochemicals Company Limited :LSP) มูลค่าการลงทุน 173,000 ล้านบาท โดยโครงการตั้งอยู่เมืองบาเหรี่ยะ-หวงเต่า อยู่ห่างจากเมืองโฮจิมินห์ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 100 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565

นอกจากที่บริษัท SCG ได้เข้าไปถือหุ้นในโครงการปิโตรเคมีของเวียดนามแล้ว ยังมีบริษัทในเครือ อาทิ บริษัท TPC VINA Plastic & Chemical ที่ดำเนินธุรกิจผลิตในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นปลาย ได้แก่ พลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ ยางสังเคราะห์ ตามโครงการส่งเสริมการลงทุนของเวียดนามด้วย

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยหลายรายที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ , ไทยวา (ผลิตแป้งมันสำปะหลัง) , กระทิงแดง , เครือเบทาโกร , บริษัท ThaiBev , ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ , เครือซีเมนต์ไทย (SCG) , บริษัทสามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) , บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท One ASEAN Development ,บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้กลุ่มอมตะของไทย (Amata VN PCL) กับบริษัท ต่วน โจว ของเวียดนาม ได้มีการร่วมลงทุนเพื่อก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ฮาลอง จังหวัดไฮฟอง ทางตอนเหนือของกรุงฮานอย บนพื้นที่กว่า 4 พันไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมทั่วไปและกลุ่มไฮเทค และอมตะยังมีโครงการพัฒนา อีก 2 โครงการใหญ่ คือ โครงการอมตะ ซิตี้ ฮาลอง เพื่อรองรับการคมนาคมขนส่ง เชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ในตลาดจีนและทั่วโลก และโครงการอมตะ ซิตี้ ลองถั่น เพื่อพัฒนาพื้นที่และเปิดขายพื้นที่ในกลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทค และออโตเมติก เป็นต้น