แก้เกมข้าวโพด 3 ต่อ 1 รง.อาหารสัตว์พลิกนำเข้าข้าวบาร์เลย์

ปมร้อนระหว่าง “สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” ที่เสนอให้ปรับลดสัดส่วนที่กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรอัตราส่วน 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน (มาตรการ 3 ต่อ 1) ให้เหลือ 2 ต่อ 1 แทน เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรม และ “สมาคมการค้าพืชไร่” ที่เสนอให้คงมาตรการ 3 ต่อ 1 ไว้ พร้อมทั้งขอให้ภาครัฐ

ย้อนกลับไปขึ้นภาษีนำเข้าข้าวสาลี 27% ตามเดิมปี 2550 เพื่อลดผลกระทบต่อชาวไร่ข้าวโพดยังไม่ทันจาง

ล่าสุดสภาเกษตรกรร้องให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ซึ่งมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ให้ตรวจสอบประเด็นการนำเข้าข้าวบาร์เลย์ที่เพิ่งมีเป็นปีแรกด้วย

นำเข้าข้าวสาลี 2 ต่อ 1

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 “บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร” อธิบดีกรมการค้าภายใน ปฏิเสธกรณีที่มีผู้กล่าวหาว่ากระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ เพิกเฉยต่อการ “ขึ้นภาษีนำเข้าข้าวสาลี” โดยอธิบายว่า ไทยได้ทำข้อตกลงภายใต้องค์การค้าโลกว่า หากนำเข้าสินค้าข้าวสาลี (พิกัด 1001) จะมีภาษีนำเข้า 27% ตั้งแต่ปี 2538 ต่อมาทยอยลดลงมาเรื่อยตั้งแต่ปี 2542 กระทั่ง 12 กันยายน 2550 กระทรวงการคลังประกาศ “ยกเลิกอัตราอากรข้าวสาลี” เนื่องจากไทยไม่สามารถผลิตได้จึงต้องมีการนำเข้าข้าวสาลีมาเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งการนำเข้านั้นแยกพิกัดกับข้าวสาลีที่ใช้ในการผลิตอาหารคน และอาหารสัตว์ชัดเจน

ทั้งนี้ ระหว่างปี 2555-2560 มีการนำเข้าข้าวสาลีรวมทุกชนิด (สำหรับอาหารคนและสัตว์) ปริมาณ 17.8 ล้านตัน มูลค่า 153.126 ล้านบาท และเฉพาะข้าวสาลีสำหรับผลิตอาหารสัตว์ นำเข้า 11.8 ล้านตัน มูลค่า 91.793 ล้านบาท แต่ภายหลังจากรัฐดำเนินมาตรการ 1 ต่อ 3 เมื่อปี 2560 พบว่าปริมาณนำเข้าข้าวสาลีมีเพียง 1.66 ล้านตัน ลดลงจากปี 2559 ที่มีปริมาณ 3.55 ล้านตัน หรือลดลง 1.89 ล้านตัน คิดเป็น 53.24%

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นบขพ.เห็นชอบให้คงมาตรา 3 ต่อ 1 ต่อไป แต่ได้ “เปิดช่อง” ให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 2 ส่วน เพื่อจะได้สิทธินำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน (มาตรา 2 ต่อ 1) เฉพาะช่วงวันที่ 15 มิ.ย.-15 ส.ค. 2561 เท่านั้น หลังจากนั้นให้กลับไปใช้สัดส่วน 3 ต่อ 1 ตามเดิม โดยมั่นใจว่าวิธีการนี้จะไม่กระทบราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ แม้จะออกมาในช่วงเดือนมิ.ย. 2561 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพด ซึ่งเก็บเกี่ยวกันยาวไปจนถึงเดือน ก.ย. 2561

ไฟเขียวนำเข้าข้าวบาร์เลย์

ในวันเดียวกันนั้น “น.สพ.สรวิศ ธานีโต” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ได้ออกมาชี้แจงว่า “บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส์ จำกัด” ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่นำเข้าข้าวบาร์เลย์จากออสเตรเลียเมื่อเดือนพฤษภาคม 125,380 ตัน ได้ระบุว่าใช้ทำอาหารสัตว์อย่างชัดเจน เป็นไปตามที่ได้ขึ้นทะเบียนสูตรอาหารสัตว์ไว้ อีกทั้งจากการสุ่มตรวจข้าวบาร์เลย์ที่นำเข้ามากก็ไม่พบสารพิษจากเชื้อราด้วย

สาเหตุที่ต้องนำเข้าข้าวบาร์เลย์เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดลดลง และระดับราคาข้าวโพดสูงขึ้น กก.ละ 10 บาท จากเดิม 8.00 บาท ขณะที่ราคาข้าวบาร์เลย์นำเข้า กก.ละ 8.50 บาท

ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ดิ่ง

ประเด็นที่น่าจับตามอง คือ การเปิดช่องให้นำเข้าข้าวสาลี “บางช่วงเวลา” ช่วยลดความตึงตัวของวัตถุดิบของโรงอาหารสัตว์ได้ก็จริง เพราะจากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรสรุปว่า แต่ละปีไทยต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้ผลิตอาหารสัตว์ 8.25 ล้านตัน แต่ผลผลิตข้าวโพดปี 2561/2562 มีปริมาณเพียง 5 ล้านตัน ยังขาดวัตถุดิบอีก 3 ล้านตัน ดังนั้น หากให้นำเข้าข้าวสาลีตามสัดส่วน 3 ต่อ 1 เท่ากับผู้ผลิตอาหารสัตว์จะนำเข้าข้าวสาลีได้ 1.5-1.8 ล้านตัน และเมื่อรวมปริมาณข้าวสาลีนำเข้า 1.5-1.6 ล้านตัน กับผลผลิตข้าวโพด 5 ล้านตัน จะมีวัตถุดิบ 6.5-6.8 ล้านตัน ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการผลิตอาหารสัตว์ที่มี 8.25 ล้านตัน เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ผลิตต้องหันไปนำเข้าข้าวบาร์เลย์มามากขึ้น

แต่หลังจากเปิดช่องให้นำเข้าทั้งข้าวสาลี และข้าวบาร์เล่ย์ก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาข้าวโพดฤดูกาลใหม่ และอาจลามไปยังวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดอื่นด้วย

วงการค้าข้าวระบุว่า ขณะนี้ราคารำข้าวปรับลดลง กก.ละ 1-2 บาท เพราะขายอาหารสัตว์ไม่ได้ และจากภาพรวมการส่งออกข้าวช่วงนี้ชะลอตัว และฝนตกชุกทำให้ขนส่งข้าวลงเรือไม่ได้ ขณะที่มันสำปะหลังก็เช่นเดียวกัน ยอดส่งออกลดลง 14% ในช่วง 5 เดือนแรก ทำให้ราคามันสำปะหลังปรับตัวลดลงเช่นกัน

ประเด็นนี้ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการแก้ปัญหาแบบไม่เบ็ดเสร็จของภาครัฐ ซึ่งท้ายที่สุดต้องย้อนกลับมาแก้ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร ออกมาตรการเสริมให้เกษตรกรอีกรอบ