กพร.หารือกฤษฎีกาตีความกม.แร่ฉบับใหม่กดดันเอกชนฟ้องขอคืนค่าภาคหลวงแร่ถ่านหิน 25%

นายวิษณุ ทับเที่ยง รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ กพร.ได้นัดหารือกับตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อสอบถามถึงข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติแร่(พ.ร.บ.) พ.ศ.2560(ฉบับใหม่) ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 29 สิงหาคมนี้ ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่ได้ยกเลิกการกำหนดหลักเกณฑ์การคืนค่าภาคหลวง 25% ให้กับผู้ประกอบการ ที่มีใช้แร่ถ่านหินในการประกอบกิจการ จากเดิมที่พ.ร.บ.แร่ฉบับปัจจุบันกำหนดว่าหากผู้ประกอบการใช้แร่ถ่านหินที่ผลิตในประเทศเป็นวัตถุดิบหรือเชื้อเพลิงในการประกอบธุรกิจ จะได้รับคืนค่าภาคหลวง 25% เพราะกังวลว่าหากมีเอกชนตกค้างยังไม่ยื่นขอคืนภาคหลวง และมายื่นหลังวันที่ 29 สิงหาคม อาจถูกตัดสิทธิและอาจนำไปสู่การฟ้องร้องต่อกพร.ในภายหลัง โดยกพร.จะทำหนังสืออย่างเป็นทางการขอให้กฤษฎีกามีการตีความข้อกฎหมายเรื่องการคืนค่าภาคหลวงถ่านหินให้ชัดเจนว่า หากเอกชนยื่นขอคืนหลังวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ กพร.จะต้องทำดำเนินการ

“สาเหตุที่กฎหมายฉบับปัจจุบันที่ใช้มานานตั้งแต่ปี 2510 มีข้อกำหนดให้คืนภาคหลวง เพราะในอดีตรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้ใช้แร่ถ่านหินเพื่อประกอบกิจการภายในประเทศ เป็นการกระตุ้นเอกชนทางหนึ่ง แต่ปัจจุบันแร่ดังกล่าวมีจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในภาคเหนือ ในกฎหมายใหม่จึงไม่มีการกำหนดไว้ แต่เพื่อไม่ประมาท ทางกรมฯจึงขอหารือกับกฤษฎีกา เพราะกังวลว่าหากมีเอกชนตกค้างขอคืนค่าภาคหลวง 25%”นายวิษณุกล่าว

ทั้งนี้ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ถือเป็นผู้ใช้ถ่านหินในประเทศเป็นหลัก ได้รับคืนค่าภาคหลวงแล้ว 60 ล้านบาทต่อปี และมีผู้ประกอบการผลิตปูนซิเมนต์ ประกอบด้วย ปูนซิเมนต์ไทย ปูนนครหลวง และปูนเอเชีย ที่ใช้ถ่านหินในกระบวนการผลิตเช่นกัน ซึ่งกลุ่มนี้ยังไม่ได้ขอรับค่าภาคหลวงคืน มูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท

 

ที่มา มติชนออนไลน์