สร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน โจทย์ใหญ่ “อนาคตพลังงานไทย”

การสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานเป็นประเด็นหลักที่มีการหารือในขณะนี้ โดยปัจจุบันไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้า 50,000 เมกะวัตต์ เพียงพอสำหรับใช้ไปถึงอีก 5 ปีข้างหน้า แต่การบริหารจัดการไฟฟ้าของไทยยังมีปัญหาโดยเฉพาะภาคใต้ที่ยังมีปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ไม่เพียงพอ ทางออกหนึ่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงทุนสายส่งคู่ขนาน 4 คู่ เพื่อดึงไฟจากภาคกลางไปยังภาคใต้ แต่อีกทางหนึ่งการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ผลิตไฟฟ้าสำหรับกระจายใช้ในพื้นที่

ล่าสุด นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา “อนาคตพลังงานไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ยอมรับว่า ปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตในอ่าวไทย แหล่งบงกช และเอราวัณ ในสัดส่วนที่ 76% ไทยมีเป้าหมายสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน โดยให้ทุกภาคส่วนได้ใช้พลังงานจากระบบที่ทันสมัย มั่นคงและยั่งยืนในราคาที่ไม่แพง ทั้งใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรักษาระดับราคาให้มีเสถียรภาพได้

ธุรกิจท่องเที่ยวใช้ไฟ 1 ใน 3

สำหรับแผนการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ยังคงมีความจำเป็นแน่นอน โดยจะเห็นได้ว่าปัจจุบันภาคใต้มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 2,624 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.4% ต่อปี เป็นสัดส่วนของประมาณที่ต้องการใช้สูงสุดในภาคการท่องเที่ยวและพาณิชย์ 36% ภาคครัวเรือน 32% โรงงานอุตสาหกรรม 27% อื่น ๆ อีก 5% โดยจังหวัดที่ใช้ไฟมากที่สุด คือ สงขลา สูงถึง 20% หรือ 528 เมกะวัตต์ รองลงมาสุราษฎร์ธานี 443 เมกะวัตต์ และภูเก็ต 414 เมกะวัตต์ ตามลำดับ โดยช่วงเวลาตั้งแต่ 19.00-21.00 น. จะมีการใช้ไฟสูงสุด

ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าป้อนให้ภาคใต้อยู่ที่ 2,788 เมกะวัตต์ (ผลิตจริง 2,624 เมกะวัตต์) ซึ่งจะมาจาก 2 โรงไฟฟ้าหลัก คือ โรงไฟฟ้าจะนะ กำลังการผลิต 1,476 เมกะวัตต์ ผลิตจริง 1,106 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขนอม กำลังการผลิต 930 เมกะวัตต์ ผลิตจริง 918 เมกะวัตต์ ที่เหลือจะมาจากพลังงานเขื่อน พลังงานชีวมวล พลังงานลม และนำมาจากภาคกลางอีกส่วนหนึ่ง

ความคืบหน้า RPS

การจัดตั้งบริษัท Regional Power System (RPS) ซึ่งจะมีหน้าที่ผลิต รับซื้อ จำหน่าย จัดส่งไฟฟ้าและควบคุมระบบไฟฟ้า เพื่อใช้รองรับ 3 จังหวัดภาคใต้ โดยโครงการนี้มีกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์

ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1% เท่านั้น เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตทั้งหมดของประเทศที่สูงกว่า 40,000 เมกะวัตต์ และมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้าให้กับพื้นที่

ทั้งนี้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีการใช้ไฟฟ้า 217 เมกะวัตต์ จังหวัดที่มีการใช้ไฟมากที่สุด คือ จ.ปัตตานี 82 เมกะวัตต์ ยะลา 68 เมกะวัตต์ นราธิวาส 67 เมกะวัตต์ โดยจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเติม เกิดขึ้น 7 แห่ง รวม 120 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย จ. ปัตตานี ใน อ.หนองจิก 20 เมกะวัตต์ อ.มายอ 10 เมกะวัตต์ อ.สายบุรี 10 เมกะวัตต์, จ.ยะลา ใน อ.เบตง 10 เมกะวัตต์ อ.เมือง 20 เมกะวัตต์ 2 แห่ง จ.นราธิวาส ใน อ.ศรีสาคร 10 เมกะวัตต์ และ อ.สุไหงโก-ลก 20 เมกะวัตต์

ดร.ศิริย้ำว่า เราจะให้ชุมชนมาช่วยกัน และมี กฟผ.เป็นพี่เลี้ยง เมื่อชุมชนเข้มแข็งก็จะเข้ามาช่วยกันบริหาร แม้หลายคนอาจมองว่าไม่จำเป็น แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้นยังมีพลังงานรูปแบบอื่นที่จะเข้ามาช่วยทดแทนในยามที่โรงไฟฟ้าหลักปิดซ่อมหรือเกิดอะไรขึ้น แน่นอนว่าโรงไฟฟ้าจากชีวมวล จากโซลาร์ รวมถึงแก๊สชีวภาพ จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อมารองรับการใช้ไฟฟ้าในอนาคต

ล่าสุดได้มีการหารือกับทุกส่วนถึงรูปแบบการบริหารงานบริษัท RPS ด้านการผลิตจะเป็น กฟผ., การจำหน่ายเป็นหน้าที่ของ กฟภ.เช่นเดิม โดยวิสาหกิจชุมชนจัดหาวัตถุดิบชีวมวลในพื้นที่ป้อนให้ ส่วนการถือหุ้นจากเบื้องต้นจะให้ กองทุนเพื่อการพัฒนาและอนุรักษ์พลังงาน ถือในสัดส่วน 51% ส่วน กฟภ. และ กฟผ. ถือหุ้นรวมกัน 49% เมื่อวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็งจะเข้ามาถือหุ้นแทนกองทุนอนุรักษ์ แต่ประเด็นนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ส่วนประเด็นการคัดค้านในพื้นที่ ทางกระทรวงพลังงานได้เร่งทำความเข้าใจแล้ว

เดินหน้า PDP ใหม่

และในขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2 เดือนนับจากนี้ โดยเบื้องต้นจะมีรูปแบบที่ยืดหยุ่นมากขึ้น นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่าง startup นำระบบใหม่ ๆ มีโอกาสเข้ามาผลิตไฟฟ้าได้ด้วยต้นทุนต่ำ รัฐจะพิจารณาทันที เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน