3สภาธุรกิจถกพาณิชย์รับมือ กสิกรชี้กระทบส่งออกแสนล.

เอกชนหวั่นหางเลขสงครามการค้าจีน-สหรัฐ กระทบมู้ดจับจ่ายตลาดซบยาวปี”62 แนะพาณิชย์เตรียมรับมือสินค้าทะลัก สกัดปัญหาสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้าไทย เร่งสปีดเอฟทีเอตลาดใหม่ ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ประเมินกระทบส่งออกไทยปี”62 เฉียดแสนล้านบาท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากสหรัฐประกาศใช้มาตรการเก็บภาษีนำเข้า 25% สินค้าลอตแรกจากจีน รวม 818 รายการ นับตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ต่อด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าลอตที่ 2 อีก 284 รายการ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอากาศยาน เครื่องจักรและชิ้นส่วนยานยนต์ พลาสติก เหล็ก โครงสร้างมอเตอร์ไฟฟ้า เป็นต้น ส่งผลให้จีนออกมาตรการตอบโต้กลับด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าในอัตรา 25% กับสินค้าจากสหรัฐ 545 รายการ และลอต 2 อีก 114 รายการ เช่น ถั่วเหลือง ธัญพืช เนื้อวัว เนื้อหมู รถออฟโรด จากการตรวจสอบตัวเลขส่งออกไป 2 ตลาดนี้ในช่วง 6 เดือนแรก 2561 พบว่าไทยส่งออกไปตลาดสหรัฐ มูลค่า 13,613 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และส่งออกไปจีน 14,935 ล้านเหรียญ ขยายตัว 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ครึ่งปียอดส่งออกแห่ตุนสต๊อก

สำหรับการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปทั่วโลกในช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น เช่น มันสำปะหลัง 1,628 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.2% ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ 19,113 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.2% เครื่องใช้ไฟฟ้า 12,453 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.8% เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก 7,303 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20% เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 3,140 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล 3,969 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.1%

ขณะที่การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ มูลค่า 19,824 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 40.6% เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ มูลค่า 9,228 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.9% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มูลค่า 10,292 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.7% เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 6,585 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.6% อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 7,720 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.7% และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ มูลค่า 5,954 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.3%

Advertisment

พาณิชย์ถกประชารัฐ D4

นายวิศิษฏ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปแห่งประเทศไทย, ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันที่ 7 สิงหาคม 2561 กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญภาคเอกชนจากสภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ เข้าร่วมหารือร่วมกับคณะทำงานสานพลังประชารัฐ D4 ด้านการส่งออก เพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งภาครัฐมอบโจทย์ให้เอกชนประเมินผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐและจีน และไทยจะมีโอกาสทำตลาดได้อย่างไรบ้าง ก่อนจะทบทวนเป้าหมายการส่งออกปี 2561 ซึ่งกระทรวงวางไว้ที่ 8%ประเมินว่าผลจากสงครามการค้าในช่วงแรก สินค้าที่มีโอกาสส่งออกไปสหรัฐขยายตัว เช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ พลาสติก และชิ้นส่วนยานยนต์

ส่วนสินค้าที่จะส่งออกไปจีนมากขึ้น คือ มันสำปะหลัง ส่วนสินค้าที่ยังน่าห่วง เช่น ยางและผลิตภัณฑ์ยาง กุ้งแช่แข็งและแปรรูป เครื่องซักผ้าที่ไทยถูกใช้มาตรการขึ้นภาษีปกป้องซึ่งจะมีผลทำให้ตัวเลขส่งออกปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3-4 จากช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 11% เอกชนมั่นใจได้ว่าภาพรวมการส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้เกินจากเป้าหมาย 8% ประเด็นที่น่ากังวลคือผลกระทบจากสงครามการค้า ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร อาจจะทำให้ในปี 2562 จะเป็นปีที่คาดการณ์ทิศทางการส่งออกได้ยาก

สอดคล้องกับที่ ดร.ชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปีหน้าคาดการณ์ลำบากกว่าปีนี้ ในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังใช้มาตรการจะยังไม่ได้เห็นภาพชัด เพราะการเดินเกมของประธานาธิบดีทรัมป์ มีกลยุทธ์ที่จะเรียกแต่ละประเทศไปเจรจาเพื่อให้การยกเว้นการขึ้นภาษีรายประเทศ ซึ่งผู้นำเข้าสหรัฐได้มีการนำเข้าไปสต๊อกก่อนแล้ว หลังจากนั้นจึงจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยในเดือนมิถุนายน 2561 สหรัฐนำเข้าเพิ่มขึ้น 10%

Advertisment

ที่ห่วงคือสเต็ปต่อไปพลิกเกมมองได้ 2 รูปแบบ คือ สินค้าที่ถูกจีนและสหรัฐขึ้นภาษีจะทะลักเข้ามาไทย และผู้ผลิตจาก 2 ประเทศจะย้ายฐานการลงทุน และหันมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต หรือไม่ก็ใช้เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากตัวเลขส่งออกที่เพิ่มขึ้น แต่อาจมีปัญหาสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้าไทยเพื่อส่งออก

ศก.สหรัฐซบ-เงินเฟ้อสูง

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทิศทางการส่งออกครึ่งปีหลังยังมีโอกาสขยายตัวได้ดี แต่หลายฝ่ายยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่าจะขยายตัวเกิน 8% เพราะสงครามการค้ายังมีโอกาสเป็นได้ทั้งบวกและลบ ขณะที่ปัจจัยอื่น เช่น ระดับราคาน้ำมันน่าจะไม่เกิน 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 33.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

“สงครามการค้ามีผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐและกำลังซื้อทั่วโลกแน่นอน เพราะถึงแม้ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว แต่การปรับขึ้นภาษีก็ทำให้ต้นทุนสินค้านำเข้าสูงขึ้น ประกอบกับมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐล่าสุดสูงเกิน 2% จากปีก่อน พร้อมทั้งใช้มาตรการดึงดูดการลงทุนกลับไปที่สหรัฐ นโยบาย American First โดยการลดภาษีนิติบุคคลลงจาก 37% เหลือ 22% ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการโอนเงินกลับ แต่ยังยากที่จะดึงดูดการลงทุนกลับ ขณะนี้อัตราการว่างงานในสหรัฐยังสูงถึง 3.8% การลงทุนจะไหลกลับไปยาก ค่าแรงงานสูงและขาดวัตถุดิบ ดังนั้นในอนาคตจึงมีความเสี่ยงให้ประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอย”

ทิศทางส่งออกปี”62 ยาก

ส่วนทิศทางการส่งออกในปี 2562 ยังคาดการณ์ได้ยาก เพราะหลังจากเกิดสงครามการค้าทั้งจีนและสหรัฐต่างมีความเคลื่อนไหวที่สำคัญในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ โดยเห็นได้ชัดเจนว่าขณะนี้จีนเดินหน้าไปลงทุนและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศในกลุ่มแอฟริกา และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เพื่อลงทุนตั้งฐานการผลิต และตั้งศูนย์กระจายสินค้า (ดีซี) ซึ่งขณะนี้ตั้งที่ “Dragon Mart” ที่ดูไบ เป็นแห่งที่ 2 เพื่อเชื่อมโยงตลาดกลุ่มนี้เข้านโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ (One Belt One Road) ส่วนสหรัฐอาจจะหวนกลับไปสานสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศ NAFTA เพื่อแสวงหาโอกาสการลงทุนในแหล่งที่มีวัตถุดิบ และค่าแรงที่ต่ำ ซึ่งในส่วนของไทยจะต้องพยายามติดตามสถานการณ์และเข้าไปมีส่วนใช้ประโยชน์ให้ได้

“ปัจจัยบวกต่อการส่งออกปี 2562 ยังมีเมกะโปรเจ็กต์ของโลก เช่น โอลิมปิกโตเกียว 2020 และ World Expo Dubai 2020 ซึ่งจะทำให้ปี 2562 เป็นปีที่วัสดุก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวข้องเติบโตดี ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังไปได้ สินค้ายานยนต์ยังคาดการณ์ได้ยาก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้า กลุ่มพลาสติกน่าจะขยายตัวได้ดี ทั้งด้านราคาและปริมาณ เพราะขณะนี้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าหันมาสั่งซื้อไทยมากขึ้น คาดว่าปีหน้าขยายตัวได้ 5% ขณะที่กลุ่มเกษตรและอาหารก็มีทิศทางที่ดี โดยเฉพาะสับปะรดมีทิศทางราคาสูงขึ้น”

จี้รัฐดูแลนำเข้า-เดินหน้า FTA

สำหรับแนวทางที่เสนอภาครัฐในการดูแลปัญหาสงครามการค้า จะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบดูแลการออกใบ C/O เพื่อดูแลการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า (ROO) ว่าผลิตในไทยจริงหรือไม่ ป้องกันไม่ให้ฉวยโอกาสขนส่งเข้ามาประกอบและสวมสิทธิ์ส่งออกไปยังสหรัฐ เป็นต้น และการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่ทะลักเข้ามา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูแลเรื่องใบรับรอง เพื่อป้องกันสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามายังประเทศไทย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวโดยการพัฒนาตราสินค้า และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ได้

ขณะเดียวกันขอให้ภาครัฐกระตุ้นการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ฉบับต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปแล้วให้มากขึ้น ประกอบกับขอให้เร่งรัดการเจรจาความตกลง FTA หลายฉบับที่ยังคั่งค้างอยู่ให้ผ่านโดยเร็ว เช่น ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP) ความตกลงกับประเทศที่เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกฉบับใหม่ (CPTPP) และความตกลงเอฟทีเอกับรัสเซีย อังกฤษ ซึ่งหากรัฐบาลจะไปเจรจาจัดทำ strategic partnership ก็ควรจะวาง master plan

กระทบส่งออกปีหน้า 0.5-0.6%

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในปี 2562 ผลกระทบจากสงครามการค้าของสหรัฐกับจีนจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น และถ้าหากส่งผลยืดเยื้อถึงสิ้นปีจะกระทบการส่งออกของไทยไปตลาดโลก เป็นมูลค่าราว 2,400-2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5-0.6 ของ GDP โดยธุรกิจไทยในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก รถยนต์และส่วนประกอบที่เกี่ยวเนื่องกับสงครามครั้งนี้ ควรเตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงอาจต่ำกว่าคาดการณ์ ขึ้นอยู่กับว่าภาคธุรกิจจะบริหารจัดการสถานการณ์ตรงหน้าเพื่อลดความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นการหาตลาดใหม่ทดแทน หรือการโยกการส่งออกไปตามนักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตหลบเลี่ยงผลของสงครามการค้า แต่คงต้องใช้เวลาและขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตในประเทศปลายทางด้วยเช่นกัน