เกษตรกรร้องนายกฯ แก้กม. หวั่นหักภาษีเกษตรกรรายย่อยอ่วม หากคิดอัตราที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินใหม่กำหนด 60% จากเดิม 85%

แฟ้มภาพ

เกษตรกรร้องนายกฯ แก้กฎหมาย หวั่นหักภาษีเกษตรกรรายย่อยอ่วม หากคิดอัตราค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินใหม่กำหนด 60% จากเดิม 85% สวนทางกับต้นทุนวัสดุการเกษตรปรับขึ้น แถมไม่มีใบเสร็จมายืนยัน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 กลุ่มเกษตรกรเกษตรกรผู้จับสัตว์น้ำ ทำเกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้แก้ไขพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 629 ) พ.ศ. 2560 ซึ่งได้แก้ไขการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ที่เคยให้หักได้ร้อยละ 85 เปลี่ยนมาให้หักได้ร้อยละ 60 สำหรับรายได้ที่เกิดจากการจับสัตว์น้ำ การทำเกษตรกรรม และการเลี้ยงสัตว์ ถือ เป็นการกำหนดที่ไม่เหมาะสม และไม่สะท้อนค่าใช้จ่ายลงทุนที่ถูกต้องและเหมาะสมตามความเป็นจริง

เนื่องจากอดีตการทำการเกษตรแต่ละชนิดมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนปีละไม่กี่รายการ เช่น ค่าใช้จ่ายเป็นปัจจัยการผลิตที่เป็นปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช หรือค่าเครื่องจักรต่างๆ แทบไม่มี แต่กรมสรรพากรยอมให้หักค่าใช้จ่ายร้อยละ 85 ส่วนในปี 2560 ค่าใช้จ่ายในรายการต่างๆ เพิ่มขึ้นมาก แต่กรมสรรพากรยอมให้หักค่าใช้จ่ายเพียงร้อยละ 60 เป็นการสวนกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพราะต้นทุนการผลิต

ประกอบกับในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรขาดทุนมาตลอดไม่มีเงินมาเสียภาษีตามที่กรมสรรพากรเรียกเก็บ จึงขอให้นายกรัฐมนตรีได้ช่วยแก้ปัญหาก่อนที่เกษตรกรจะต้องเสียภาษีตามกฎระเบียบของการจัดเก็บภาษีนี้ในเดือนกันยายน 2561

สำหรับประเด็นที่เกษตรกรฯ เรียกร้องขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา ประกอบด้วย 1) ข้อให้แก้ไขพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 629 ) พ.ศ. 2560 ให้หักค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายพึงประเมินของเกษตรกรผู้จับสัตว์น้ำ ทำเกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์ ในอัตราร้อยละ 85 และ 2) ให้กรมสรรพากรยกเลิกวิธีการจัดเก็บภาษี ตามข้อ 12 ของแบบ ภ.ง.ด. 90 และข้อ 10 ของแบบ ภ.ง.ด. 94 สำหรับเกษตรกรผู้จับสัตว์น้ำ ทำเกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์

อนึ่งก่อนหน้านี้ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติเคยเชิญผู้แทนองค์กรเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โคเนื้อ สุกร และชาวไร่อ้อย ร่วมหารือกันกับผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และผู้แทนกรมสรรพากรในประเด็นดังกล่าวแล้วพบว่า จากข้อมูลของศูนย์สารสนเทศเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในช่วงปี 2555 -2559 มีค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายคิดเป็นร้อยละ 82.56 ดังนั้น การลดอัตรายินยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้เพียงร้อยละ 60 นอกจากไม่สะท้อนค่าใช้จ่ายตามความจริงแล้ว ยังจะทำให้เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้

นอกจากนี้ ศูนย์สารนิเทศสรรพากรได้จัดทำคำแนะนำเผยแพร่ทางเว็บไซต์ในการจัดทำเอกสาร หลักฐานที่สามารถหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ ซึ่งในตามความเป็นจริงเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นรายย่อยในสังคมชนบทไม่มีการเรียกใบเสร็จ หรือใบสำคัญรับเงิน ไม่เหมือนกับเกษตรกรรายใหญ่ หรือผู้ประกอบธุรกิจ ดังนั้น ข้อแนะนำของสรรพากรนี้ไม่สามารถนำไปปฏิบัติกับเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อยได้