สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เตรียมเสนอกระทรวงแรงงานตั้ง 8 ศูนย์นำเข้าแรงงานประมงแบบเบ็ดเสร็จที่ชายแดน แก้แรงงานขาดแคลน พร้อมเจรจากรมประมง เจ้าท่า และ ศปมผ.ทะลวงปัญหา ขู่หากไม่ได้รับการแก้ไขเตรียมหยุดเรือปลายเดือน ส.ค.นี้
จากการที่นายกสมาคมประมง22 จังหวัดชายทะเล เดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องถึงความเดือดร้อน 8 ข้อต่อรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล และให้ผู้แทนสมาคมประมงท้องถิ่นนำชาวประมงเดินทางไปยื่นหนังสือข้อเรียกร้องปัญหาความเดือดร้อนที่ศาลากลางจังหวัดในทุกจังหวัดชายทะเล ภายใน 7 วัน หากไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาผู้ประกอบการเรือประมงทั้งประเทศจะจอดเรือ 7 วัน
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยนำโดยนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคม นายภูเบศ จันทนิมิ อดีตประธานสมาคม นายกสมาคมการประมง 22 จังหวัดชายทะเล และชาวประมงอีก 500 คนได้เข้าหารือกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในประเด็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงเป็นการเร่งด่วนในขณะนี้กว่า 5 หมื่นคน ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถตกลงกันได้หลังจากเจรจากันนานหลายชั่วโมง โดยจะดำเนินการคล้ายมาตรา 83 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 แต่ไม่ใช้วิธีการนำเข้าแรงงานที่มีข้อตกลง (MOU) แบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ทั้ง 100% เหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากมีความล่าช้าในการที่แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านต้องใช้เวลาเดินทางกลับไปพิสูจน์สัญชาติตามขั้นตอนต่าง ๆ นานหลายเดือน และมีแรงงานประมงต่างชาติเข้ามาตามข้อตกลง MOU น้อยมาก
ทั้งนี้ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยจะเสนอต่อกระทรวงแรงงานในเร็ว ๆ นี้ให้มีการตั้งศูนย์บริการนำเข้าแรงงานประมงที่ถูกกฎหมายแบบเบ็ดเสร็จบริเวณชายแดนที่ จ.ระนอง อ.แม่สอด จ.ตาก ด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี ด่าน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ที่ตลาดโรงเกลือ ด่าน อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ด่านคลองใหญ่ จ.ตราด และด่าน จ.หนองคาย
รายงานข่าวกล่าวต่อว่า กรมการจัดหางานจะให้เจ้าหน้าที่จัดหางานออกสำรวจความต้องการแรงงานต่างด้าวจากเจ้าของเรือประมงในแต่ละจังหวัดให้เสร็จภายในกลางเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งการนำเข้าแรงงานต่างด้าวครั้งนี้มีเงื่อนไข คือ 1.นายจ้างเจ้าของเรือประมงต้องจ่ายค่าจ้างรายเดือน เดือนละ 1-1.2 หมื่นบาทตามประสบการณ์การทำงาน 2.จ่ายเงินเดือนผ่านบัญชีธนาคารของแรงงาน 3.มีเงินส่วนแบ่งตามมูลค่าของสัตว์น้ำที่จับได้ 4.นายจ้างรับผิดชอบค่าที่พักและอาหารให้แรงงานประมงเมื่อกลับเข้าฝั่ง 5.นายจ้างต้องจัดเวลาพักไม่น้อยกว่าวันละ 10 ชั่วโมง
6.นายจ้างต้องจัดทำประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุให้กับแรงงาน 7.นายจ้างต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายดำเนินการด้านเอกสาร เช่น ค่าตรวจลงตรา (วีซ่า) และค่าใบอนุญาตทำงานของแรงงาน 8.ต้องมีวันหยุดอย่างน้อย 4 วันต่อเดือน หากไม่มีวันหยุดต้องกำหนดเป็นค่าล่วงเวลาให้กับแรงงาน 9.นายจ้างต้องติดตั้งระบบควบคุมเรือ (VMS) 10.ขอให้ทางการไทยจัดส่งสัญญาจ้างแรงงานประมงฉบับภาษาอังกฤษผ่านช่องทางการทูต 11.ขอให้การจัดส่งแรงงานในภาคประมงเป็นโครงการนำร่อง 12.กรณีแรงงานบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ให้ได้รับสิทธิเท่ากับแรงงานในกิจการอื่น ๆ
ส่วนประเด็นปัญหากฎระเบียบต่าง ๆ ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่ออกมาบังคับใช้กับผู้ประกอบการเรือประมงในช่วงระยะหลังไม่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพ ทำให้เกิดปัญหา ตลอดจนกฎต่าง ๆ ที่ออกมาเกินข้อกำหนดของอนุสัญญาต่าง ๆ ให้สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยคัดเลือกตัวแทนมา 5 รายเพื่อตั้งคณะทำงานพิจารณาแก้ปัญหาร่วมกับกรมสวัสดิการฯต่อไป และประเด็นที่ชาวประมงมีมติคัดค้านไม่ให้รัฐบาลไปให้สัตยาบันเพื่อรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 188 (C188) ปลัดกระทรวงแรงงานพร้อมนำกลับไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง
รายงานข่าวระบุว่า สำหรับประเด็นขอให้กรมประมงแก้ไขปัญหากฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ของกรมประมงที่เป็นปัญหาต่อการปฏิบัติของชาวประมงในหลายฉบับ ประเด็นการขอให้ศูนย์ตรวจสอบการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) แก้ไขปัญหา เนื่องจากแต่ละศูนย์และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน แม้จะมีการร่วมกันทำคู่มือแนวทางปฏิบัติไปแล้วก็ตาม ประเด็นนี้ขอให้กรมเจ้าท่าเร่งรัดแก้ไขปรับปรุงกฎข้อบังคับการตรวจเรือที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นไปหลายเดือนแล้ว ประเด็นปัญหา VMS ที่ชาวประมงต้องจ่ายค่าบริการรายเดือนของอุปกรณ์ในช่วงที่เรือจอด
และประเด็นการซื้อเรือคืน จะมีการเข้าหารือกับกรมประมง กรมเจ้าท่า และศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ในสัปดาห์นี้ต่อไป หากไม่มีการนำเสนอการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติภายในวันที่ 21 ส.ค.ศกนี้ สมาคมการประมง 22 จังหวัดชายทะเล จะหยุดเรือออกจับปลาในวันที่ 22 หรือ 27 ส.ค.ศกนี้ต่อไป รายงานข่าวกล่าว