พาณิชย์จัดจ้าง “โบลลิเกอร์” ศึกษาโอกาสร่วมวง CPTPP

แฟ้มภาพไม่เกี่ยวกับข่าว

“โบลลิเกอร์ฯ” ชนะจัดจ้างที่ปรึกษาโครงการศึกษาความพร้อม ประโยชน์ ปัญหาอุปสรรคไทยก่อนชี้ชะตาเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ ไร้เงา “ปัญญาภิวัฒน์” ขีดเส้นสรุป 6 เดือน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การจัดจ้างที่ปรึกษาโครงการศึกษาเรื่องการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ด้วยวิธีการประกาศเชิญชวนทั่วไป และกำหนดให้ยื่นซองเสนอราคาไปเมื่อในวันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ล่าสุดกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พิจารณาเลือกบริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่ปรึกษาโครงการนี้ ชนะผู้ร่วมเสนออื่นอีก 2 ราย คือ สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนมหาวิทยาลัยปัญญาภิวัฒน์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ไม่มาร่วมเสนอราคาในครั้งนี้

ดร.รัชดา เจียสกุล หุ้นส่วนและกรรมการผู้จัดการ บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการศึกษาครั้งนี้มีงบฯดำเนินการศึกษา 3 ล้านบาท กำหนดกรอบระยะเวลาศึกษา 6 เดือนนับจากลงนามในสัญญาในเดือนสิงหาคม 2561 ทั้งนี้กรมกำหนดขอบเขตให้ศึกษาครอบคลุมทุกประเด็นในการเจรจา CPTPP ซึ่งจะต่างจากการศึกษาเดิมในกรอบ TPP เพราะสมาชิกเหลือ 11 ประเทศไม่มีสหรัฐ อีกทั้งทางกรมยังต้องการทราบความเป็นไปได้ หากมีประเทศอื่นเข้าร่วมการเจรจาด้วยว่าจะมีผลอย่างไร

สำหรับประเด็นพิจารณาในการเจรจาเพื่อจัดทำท่าทีและแนวทางการเจรจาของไทยว่าจะตัดสินใจเข้าร่วมการเจรจา CPTPP หรือไม่ มองเป็น 3 ส่วน คือ ด้านประโยชน์และผลกระทบของไทยในการเข้าร่วม CPTPP ทั้งในระดับมหภาค ภาคการผลิต เกษตร บริการ และการลงทุน รวมถึงผลประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาด CPTPP และผลประโยชน์ทางด้านกฎระเบียบ ด้านความพร้อม และปัญหาอุปสรรคของไทยในการเข้าร่วม CPTPP ทั้งความพร้อมในการเปิดตลาด กฎระเบียบของประเทศ ความอ่อนไหวของไทยในมิติสินค้า บริการ การลงทุน และกฎระเบียบ โอกาสในการใช้ประโยชน์จากการเข้าร่วมความตกลง ปัญหาอุปสรรคและความท้าทายในการเข้าร่วม และด้านท่าทีการเจรจาของประเทศสมาชิก CPTPP ทั้ง 11 ประเทศ การเจรจา และการเปิดตลาดในประเด็นสำคัญ นโยบายการค้าและท่าทีของประเทศสมาชิก ความยืดหยุ่นและความผ่อนปรนของการเจรจา

Advertisment

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากจัดจ้างที่ปรึกษาโครงการ CPTPP แล้ว กรมมีกำหนดการลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ซึ่งคาดว่าจะมีผลใช้บังคับในช่วงต้นปี 2562 โดยในวันที่ 10 ส.ค.นี้ ลงพื้นที่ไปภาคตะวันออกที่ จ.ชลบุรีเป็นที่แรก หลังจากนั้นจะจัดอีก 4 ครั้ง ได้แก่ ที่เชียงใหม่ สงขลา กรุงเทพฯ และขอนแก่น เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น ผลประโยชน์ ผลกระทบ ข้อกังวล ตลอดจนแนวทางการเยียวยาผลกระทบ

รายงานข่าวระบุว่า แนวทางการพิจารณาคัดเลือกที่ปรึกษาครั้งนี้ผู้ชนะจะต้องมีคะแนนรวมไม่ต่ำกว่า 80 คะแนนจาก 100 คะแนน และจะพิจารณาที่ปรึกษาที่ให้ราคาต่ำที่สุด โดยแบ่งเป็น 5 ด้าน คือ 1) ผลงานและประสบการณ์ของที่ปรึกษา 2) วิธีการบริหารและวิธีการปฏิบัติงาน 3) จำนวนบุคลากรที่เข้าร่วมงาน 4) ความรู้ความเข้าใจด้านเนื้อหาสาระ 5) การนำเสนอและการตอบข้อซักถาม ทั้งนี้ ผู้ได้รับคัดเลือกต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 5% ของวงเงินค่าจ้าง และไม่สามารถโอนถ่ายงานไปให้รายอื่นได้ โดยกรมจะแบ่งการจ่ายค่าจ้างเป็น 3 งวด ภายใน 6 เดือน หากไม่ทันตามกำหนดจะมีค่าปรับรายวัน 0.1% และหากที่ปรึกษาไม่ปฏิบัติตามสัญญาจนทำให้เกิดความเสียหายแก่กรมหรือสาธารณะ กรมสามารถบอกเลิกสัญญาได้