ส่อง 15 มิสเตอร์เกษตร แก้โจทย์ราคาสินค้าครึ่งปีหลัง

ส่องการบ้านปฏิรูปภาคเกษตร “15 มิสเตอร์สินค้าเกษตร” ถึงแนวทางการทำงานเชิงรุก ภายหลังที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งตั้งมิสเตอร์สินค้าเกษตรไปเมื่อต้นปี เน้นย้ำว่าต้องเร่งบูรณาการร่วมเอกชนระบายสินค้า หากเกิดปัญหาราคาสินค้าพืชเศรษฐกิจล้นตลาด ราคาตกต่ำ เกษตรกรขาดทุน จะต้องมีคนรับผิดชอบ ซึ่งในสัปดาห์หน้า มิสเตอร์สินค้าเกษตรต้องรายงานความก้าวหน้าต่อนายสมคิด ในการประชุม “กองทุนฟื้นฟูฯ” อีกครั้งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

ปี”61 ไม้ประดับพืชดาวรุ่ง

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2561 ขยายตัว 6.2% โดยเฉพาะสาขาพืช ปศุสัตว์ ประมง ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วยปัจจัยสภาพอากาศที่ดี และพืชไม้ดอกที่มาแรงที่สุดจากการสำรวจไม้ดอกไม้ประดับย้อนหลัง 3-5 ปี พบว่าอัตราการเติบโตต่อเนื่อง เช่น มะลิ ดาวเรือง สวนทาง “กล้วยไม้” ที่ 5 ปีที่ผลผลิตและส่งออกลดลงฮวบ ยอดสั่งซื้อลดลง มิสเตอร์ไม้ดอกจึงต้องเตรียม

จัดทำยุทธศาสตร์กล้วยไม้และไม้ดอกไม้ประดับ ฉบับใหม่ 2562-2564 เพื่อแก้ปัญหา พร้อมทำแผนดึงตลาดหลักสหรัฐ ญี่ปุ่น ให้กลับมาทั้งในและต่างประเทศในสัดส่วน 50/50

ส่วนปศุสัตว์ยังมีอนาคต โดยเฉพาะไก่เนื้อได้รับอานิสงส์จากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลง และส่งออกจีนมากขึ้น ประกอบกับเพิ่มตลาดตะวันออกกลาง ส่งผลให้ปีนี้น่าจะส่งออกได้เกินเป้า 8.2 แสนตัน มูลค่า 1.04 แสนล้านบาท

จับตาผลผลิตข้าว-ปาล์มล้น

อย่างไรก็ตาม โค้งสุดท้ายของปีต้องจับตาข้าว-ยาง-ปาล์ม โดยเฉพาะยางพารา ที่มีปัจจัยภายนอกคอยกดดัน โดยแม้ว่าปีนี้จะเป็นปีทองของข้าวหอมมะลิ ซึ่งช่วงครึ่งปีแรก 2561 ผลผลิตที่มีน้อยทำให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ทะลุขึ้นไปถึงตันละ 14,934 บาท แต่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2561 ผลผลิตข้าวเปลือกนาปีฤดู 2561/2562 จะทยอยออกสู่ตลาด จึงต้องเตรียมมาตรการรับมือทั้งโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายไว้รองรับ

ส่วนผลผลิตปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 15.40 ล้านตัน จากปีก่อน 14.24 ล้านตัน หรือคิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 2.71 ล้านตัน เมื่อรวมกับสต๊อกในปีที่ผ่านมา 4.8 แสนตัน จะมีน้ำมันปาล์มดิบทั้งหมด 3.19 ล้านตัน สูงกว่าความต้องการใช้ที่มีระดับ 2.34 ล้านต้น และสูงกว่าระดับสต๊อกที่เหมาะสม 2.5 แสนตัน ดังนั้น โจทย์ที่มิสเตอร์ปาล์มต้องผลักดันส่งออกให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 50,000 ตัน

หวั่นสงครามการค้าฉุดราคายาง

ขณะที่สินค้ายางพาราปี 2561/2562 คาดว่าจะมีการปลูกเพิ่มขึ้นจาก 19.2 ล้านไร่ เป็น 20.1 ล้านไร่ และกรีดยางได้เพิ่มขึ้นจาก 4.5 เป็น 4.9 ล้านตัน แต่ทว่า กยท.ในฐานะมิสเตอร์ยางระบุว่าปริมาณยางออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากมีฝนตกชุกเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง ส่วนมาตรการแก้ปัญหาราคายางทั้งโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 15,000 ล้านบาท ยังมีข้อจำกัดทำให้มีผู้ประกอบการที่ผ่านการอนุมัติเข้าร่วมเพียง 19 ราย โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ม.ค. 61-ธ.ค. 62 วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท

มีบริษัทที่เข้าร่วม 8 บริษัท ปริมาณ 105,500 ตัน และผ่านการอนุมัติเพียง 4 รายเท่านั้น ซึ่งหากการแก้ปัญหาราคาสามารถทำให้สหกรณ์จำหน่ายโดยตรงกับผู้ประกอบการได้ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำได้มาก

นอกจากนี้ภาคการส่งออกยางพารายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก และราคาน้ำมันดิบผันผวน และปริมาณสต๊อกยางโลกยังปรับตัวสูงขึ้น แต่หากทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าลงก็อาจจะเป็นปัจจัยสนับสนุนราคายางช่วงครึ่งหลัง 2561 มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจากราคาเอฟโอบีปัจจุบันที่ กก.ละ 49 บาท

นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาสินค้าที่ยังมีปัญหาต่อเนื่องมาตั้งแต่ครึ่งปีแรก อาทิ มะพร้าว ซึ่งไทยออกมาตรการดูแลการนำเข้า มันสำปะหลังที่ต้องเฝ้าระวังโรคใบด่างตามชายแดน ที่อาจส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชน รวมถึงสินค้าประมงจากสถานการณ์ IUU และปัจจัยสภาพอากาศในประเทศอาจส่งผลให้บางสินค้าได้รับความเสียหาย ดังนั้น โค้งสุดท้าย 15 มิสเตอร์สินค้าต้องเร่งเตรียมการอย่างเร่งด่วน