“กบง.” อุดหนุนดีเซลอีก 15 สต./ลิตร คงราคาขายปลีก LPG 363 บาท/ถัง

ที่ประชุม กบง. เห็นชอบดึงเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาดีเซลขายปลีกให้ราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ประเดิมพรุ่งนี้ 15 สต./ลิตร พร้อมขยายวงเงินอุ้ม LPG ถัง 15 กก.ไว้ 363 บ.

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า กบง. ได้เห็นชอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ออกประกาศนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในอัตราไม่เกิน 30 สตางค์ต่อลิตรกรณีที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ในระดับไม่เกิน 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรจนถึงสิ้นปีนี้ โดยจะนำร่องชดเชย 15 สตางค์ต่อลิตรเบื้องต้นมีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย.เป็นต้นไป ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกอยู่ในระดับ 80 เหรียญฯต่อบาร์เรลการตรึงราคาดังกล่าวจะใช้เงินกองทุนน้ำมันฯจนถึงสิ้นปีประมาณไม่เกิน 1,000 ล้านบาท

นอกจากนี้กระทรวงพลังานได้มีนโยบายส่งเสริมการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลเกรดพิเศษ บี 20 ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งตามจุดจอดรถ(Fleet ) ที่มีราคาจำหน่ายต่ำกว่าดีเซล 3 บาทต่อลิตรจึงต้องการให้ผู้ประกอบการขนส่งต่างๆ รวมถึงเรือโดยสารหันมาใช้บี 20 มากขึ้นซึ่งกระทรวงพลังงานมีเป้าหมายที่จะผลักดันการใช้วันละ 15 ล้านลิตรแต่ขณะนี้มีผู้มาใช้เพียง 3 ล้านลิตรเท่านั้น ทั้งนี้มาตรการที่เตรียมไว้ทั้งหมดจึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ประกอบการขนส่ง รถและเรือโดยสารสาธารณะจะไปปรับขึ้นค่าขนส่งหรือค่าบริการแต่อย่างใด
” หากพิจารณาจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นสูงแต่ด้วยความร่วมมือของผู้ค้าน้ำมันบางรายที่ได้ลดค่าการตลาดน้ำมันลงเหลือเพียง 1.26 บาทต่อลิตรจากปกติที่ควรจะเป็น 1.50 บาทต่อลิตร จึงทำให้ราคาขายปลีกดีเซลไม่ได้สูงเท่ากับราคาตลาดโลกนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา”นายศิริกล่าว

นอกจากนี้กบง. กบง. ได้เห็นชอบขยายกรอบวงเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อนำมาดูแลราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี)ขนาดถัง 15 กิโลกรัม(กก.) ที่ 363 บาทจนถึงสิ้นปีเป็น 7,000 ล้านบาทจากก่อนหน้านี้กบง.ได้อนุมัติกรอบวงเงินไว้แล้ว 3,000ล้านบาทแต่ด้วยราคาแอลพีจีตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้บัญชีแอลพีจีปัจจุบันติดลบ 3,337 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังเห็นชอบปรับสูตรราคาอ้างอิงในการนำเข้าแอลพีจีให้สะท้อนสภาพความเป็นจริงมากขึ้น โดยให้ตัดในส่วนของค่าคลังนำเข้า(Depot) 20 เหรียญฯต่อตันในการคำนวณสูตรราคาอ้างอิง

” กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของบัญชีแอลพีจีมีเงินไหลออกสุทธิ 804 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้สถานะบัญชีแอลพีจีปัจจุบันติดลบ 3,337 ล้านบาท ขณะที่บัญชีน้ำมันไหลเข้า 26 ล้านบาทต่อเดือน จึงมีสถานะบัญชีน้ำมัน 29,359 ล้านบาท รวมสถานะกองทุนฯ ณ วันที่ 2 ก.ย.2561 มีฐานะสุทธิ 26,022 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยืนยันว่าด้วยมาตรการที่จะดูแลราคาดีเซลและแอลพีจีจะไม่กระทบฐานะกองทุนน้ำมันฯแต่อย่างใดเพราะฐานะโดยรวมยังแข็งแกร่ง”นายศิริกล่าว

นายศิริ ยังกล่าวถึงการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(PDP2018) ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติปี 2561-2580 ว่า ขณะนี้กำลังพิจารณาจัดทำแผนอยู่โดยจะให้กรอบใหญ่แล้วเสร็จภายในก.ย.นี้จากนั้นจะนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เห็นชอบต่อไป จากนั้นจะมีการขยายสู่แผนอื่นๆ เช่น แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP) แผนบริหารจัดการก๊าซฯ เป็นต้น

“แผนพีดีพีความต้องการใช้ไฟฟ้าปลายแผนจะอยู่ระดับ 60,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันใช้อยู่ประมาณ 34,000 เมกะวัตต์ ภายใต้สมมติฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศ(GDP)ที่มากกว่า 4% ซึ่งจะทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วยการจัดทำจะคำนึงถึงความมั่นคงและค่าไฟฟ้าโดยเฉพาะค่าไฟในแผนใหม่ในส่วนของโรงไฟฟ้ามั่นคงจะไม่สูงไปกว่าปัจจุบันที่เฉลี่ยที่ 3.60 บาทต่อหน่วยแต่ในส่วนของค่าไฟฟ้าเพื่อการแข่งขันจะมีโอกาสถูกกว่านี้ภาพรวมค่าไฟจึงไม่สูง ”

นอกจากนี้ยังจะเปิดกว้างสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง(IPS ) ให้มากขึ้นโดยจะเริ่มเห็นได้ในปี 2562 โดยเฉพาะโซลาร์ภาคประชาชน แผนพีดีพีใหม่ยังปรับให้ 3 การไฟฟ้า(การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ., การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) ต้องร่วมกันดูแลด้านไฟฟ้าให้เกิดความมั่นคง จากแต่เดิมเป็นหน้าที่ของ กฟผ.เท่านั้น