วิกฤตตลาดใหม่ EM จับตาเงินไหลเข้าไทยทำ “บาทแข็ง”

แม้ว่าการส่งออกไทยในช่วง 7 เดือนแรก ปี 2561 ขยายตัวถึง 10.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าเป้าหมายที่สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.หรือ TNSC) เคยประเมินไว้ 8% ทำให้ต้องปรับเป้าหมายใหม่เพิ่มเป็น 9% เท่ากับว่าในช่วง 5 เดือนนับจากนี้ไทยต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 22,240 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะถึงเป้าหมายไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม สรท.ยอมรับว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายยังคงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญทั้งกรณีสหรัฐประกาศสงครามการค้ากับจีนระลอกใหม่ โดยการขึ้นภาษีสินค้าจีนลอตที่ 3 อีก 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนกันยายนนี้ จากก่อนหน้านี้ที่ปรับขึ้นภาษีสินค้าไปแล้ว 2 ลอต คิดเป็นมูลค่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และต้องจับตาปัญหา วิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ (emerging market : EM) ที่กำลังปะทุอย่างต่อเนื่อง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. ระบุว่า ทาง สรท.กำลังติดตามความผันผวนของค่าเงินในหลายประเทศ โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่อย่างเวเนซุเอลาที่มีปัญหาเงินเฟ้อสูงกว่า 82,766% และมีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 20% และตุรกีที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 15% อัตราดอกเบี้ย 17.75% ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนประเทศกลุ่มนี้ปรับลดลงอย่างมาก เช่น อาร์เจนตินา 104% อินเดีย 11% บราซิล 25% อินโดนีเซีย 10%

“แม้ว่าไทยจะส่งออกไปเวเนซุเอลาเพียง 0.0042% ของภาพรวมการส่งออกทั้งหมด แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศ EM ซึ่งจะมีผลกับการส่งออกไทย โดยทิศทางค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากสมมุติฐาน สรท.ที่วางไว้ระดับ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐบวกลบ 0.5”

ทั้งนี้ การที่สหรัฐมีแนวโน้มที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยงอย่างน้อยอีก 2 ครั้งในปีนี้ประมาณ 2.25-2% และวิกฤตค่าเงินตุรกีมีผลให้เงินไหลเข้ากลุ่มประเทศ EM รวมถึงไทยมากขึ้น เนื่องจากไทยมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดี

ขณะที่ค่าเงินรูเปียห์อินโดนีเซียมีแนวโน้มที่ค่าเงินอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว จนต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 5.5% เป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 3 เดือน เพื่อป้องกันค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี จนอาจจะซ้ำรอยตุรกี

นายวิศิษฐ์ชี้ว่า จากวิกฤตนี้ทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกทดแทนสินค้าตุรกี แต่อีกด้านหนึ่งผู้ส่งออกที่ส่งวัตถุดิบไปตุรกีจะได้รับผลกระทบ เพราะค่าเงินอ่อนเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท และที่สำคัญยังต้องติดตามว่าวิกฤตในประเทศ EM จะลามไปยังประเทศคู่ค้าอื่น หรือประเทศเจ้าหนี้ที่กลุ่มนี้ไปกู้เงินไว้หรือไม่ หากลุกลามจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม

สำหรับสินค้าส่งออกหลักประเทศ EM ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว เครื่องซักผ้า เครื่องยนต์สันดาปภายใน

ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ส่วนประกอบยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป และกระดาษ เป็นต้น

ด้าน นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธาน สรท. กล่าวว่า ผู้ส่งออกต้องเตรียมรับมือความผันผวนค่าเงินโดยใช้เครื่องมือทางการเงิน เช่น สกุลเงินท้องถิ่น การเปิดบัญชี Foreign Currencies Deposit (FCD) และต้องกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดใหม่ การใช้ประโยชน์ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ต่าง ๆ และการส่งเสริมอีคอมเมิร์ซ B2B Cross Border

ขณะที่นโยบายการสานต่อการเจรจาความตกลง FTA ไทย-ตุรกีก็ยังควรเดินหน้าต่อไป เพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต เพราะเดิมความตกลงฉบับนี้เป็นความตกลงที่ไทยเตรียมพร้อมในช่วงที่ตุรกีจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียู ในช่วงที่ไทยยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถเจรจากับอียูโดยตรงได้ จึงวางกลยุทธ์เพื่อสร้างเกตเวย์เชื่อมต่อเข้าสู่ตลาดอียู นอกจากนี้ ไทยควรริเริ่มการเจรจา FTA กับประเทศ EM อื่น เช่น แอฟริกาใต้ เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต เพราะแอฟริกาใต้ไม่เพียงเป็นตลาดส่งออกสำคัญ และมีทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังเป็นประเทศที่เป็นพันธมิตรที่ดีกับจีน จึงถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพในอนาคต