“เสรี” เฉพาะนำเข้า LPG เอกชนสับสนรัฐตรึงราคาในประเทศต่อ

ทันทีที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้พิจารณา “ตรึงราคา” ก๊าซปิโตรเลียม (LPG) เดือนสิงหาคม ไว้ที่ 20.49 บาท/กิโลกรัม และยังใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกในการชดเชยราคาก๊าซ LPG ที่ 2 บาทกว่า/กิโลกรัม นั้น ได้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า ท้ายที่สุดกระทรวงพลังงานยังไปไม่ถึงเป้าหมายการ “เปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG อย่างสมบูรณ์ 100%” คือปล่อยให้ราคาก๊าซ LPG สะท้อนตามราคาตลาดโลก เกิดการแข่งขัน และเพิ่มผู้เล่นในตลาดนี้

โดย กบง.ให้เหตุผลการชดเชยราคาก๊าซ LPG ว่า แม้จะประกาศเปิดเสรีไปแล้ว เนื่องจากราคาก๊าซในตลาดโลกในช่วงเดือนกรกฎาคม 2560 ปรับราคาขึ้นไปกว่า 80 เหรียญสหรัฐ/ตัน อาจจะปรับขึ้นอีกช่วงปลายปีที่เข้าสู่ฤดูหนาวที่ความต้องการใช้เพิ่มขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ก๊าซ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย จึงเลือกที่จะชดเชยราคาต่อไป

เสรีเฉพาะการนำเข้า

ภายหลังเปิดเสรีธุรกิจก๊าซอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 สิงหาคม 2560 ตามที่กระทรวงพลังงานวางแผนไว้นั้น นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเวทีชี้แจงประเด็นนี้ว่า “ทำไมต้องเปิดเสรีโครงสร้างธุรกิจด้านพลังงาน” รวมถึงประโยชน์ที่ประเทศและประชาชนจะได้รับจากโครงสร้างธุรกิจพลังงานเมื่อเปิดเสรี

โดยนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้ข้อมูลว่า ความต้องการใช้ก๊าซ LPG ปัจจุบันอยู่ที่ 500,000 ตัน/เดือน แบ่งเป็นการใช้ในครัวเรือน 170,000 ตัน/เดือน ใช้ในภาคอุตสาหกรรม 50,000 ตัน/เดือน ภาคขนส่ง 110,000 ตัน/เดือน และการใช้ในปิโตรเคมี 160,000 ตัน/เดือน

ปัจจุบันโรงแยกก๊าซธรรมชาติในประเทศผลิตก๊าซ LPG ได้ 300,000 ตัน/เดือน และโรงกลั่นน้ำมันผลิตได้ 170,000 ตัน/เดือน รวมการผลิตทั้งหมด 470,000 ตัน/เดือน ดังนั้น ส่วนที่เหลืออีก 430,000 ตัน จึงต้องเปิดให้นำเข้า ทั้งนี้ นายอารีพงศ์ได้ขยายความถึงการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG ตามแบบฉบับของกระทรวงพลังงานว่า เป็นการเปิดเสรีเฉพาะในส่วนของการ “นำเข้า” เท่านั้น มีการเปลี่ยนแปลงเพียงรายละเอียดของ “ต้นทาง” การจัดหาก๊าซ LPG ส่วนกลไก เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังคงมีอยู่

เอกชนจี้รัฐเปิดเสรี 100%

การประกาศตรึงราคาก๊าซ LPG ทำให้ผู้ค้าก๊าซต่างให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ควรเปิดเสรีอย่างแท้จริง ไม่ควรใช้เครื่องมือใด ๆ เข้ามาแทรกแซงราคา เพราะเมื่อธุรกิจนี้แข่งขันแล้วประชาชนได้ประโยชน์จากราคาก๊าซที่ถูกลง

โดย นายนพวงศ์ โอมาธิกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ผู้ค้าก๊าซแบรนด์เวิลด์แก๊ส ระบุว่า การเปิดเสรีผู้ค้าสามารถวางแผนในการทำธุรกิจได้ดีกว่า เพราะจะใช้ราคาตลาดโลกอ้างอิง ขณะนี้ผู้ค้าก๊าซค่อนข้าง “สับสน” กับคำว่า “เปิดเสรี ที่ไม่เสรีอย่างแท้จริง”

“เข้าใจว่าภาครัฐคงอยู่ระหว่างทำการบ้าน เพราะการเปิดเสรีก๊าซ LPG เป็นเรื่องใหม่ เบื้องต้นคาดการณ์ว่าน่าจะตรึงเฉพาะภาคครัวเรือน แต่ผู้ใช้ภาคอื่น ๆ เห็นว่าควรปล่อยลอยตัวราคา”

สเต็ปต่อไปเปิดเสรี LNG

สเต็ปต่อไปของกระทรวงพลังงาน คือ เปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LNG เพราะคาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีการใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ปัจจุบันมีการนำเข้าก๊าซ LNG โดย ปตท.เพื่อนำมารองรับการใช้แค่ 10% ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2566 ความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้น 40% หรือประมาณ 15 ล้านตัน (ในกรณีที่ไม่มีการจัดหาก๊าซเพิ่มเติม) เนื่องจากก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย (JDA) รวมถึงการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยบางแหล่งเริ่มมีกำลังการผลิตที่ลดลง

นายอารีพงศ์ให้ข้อมูลต่ออีกว่า การใช้ก๊าซ LNG จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องมาจัดระเบียบการนำเข้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดย กพช.ได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติดูแลภาพรวมทั้งระบบของธุรกิจก๊าซ LNG สำหรับธุรกิจก๊าซ LNG ในปัจจุบัน มี ปตท.เป็นผู้นำเข้า พร้อมทั้งยังเป็นผู้ลงทุนวางท่อก๊าซเพื่อส่งต่อไปยังลูกค้าด้วย แต่เมื่อความต้องการใช้มากขึ้นและกระทรวงพลังงานต้องการเปิดเสรี โดยเปิดให้บุคคลที่ 3 เป็นผู้นำเข้าก๊าซได้ และสามารถมาใช้ศักยภาพของท่าเรือ คลังก๊าซ LNG รวมถึงระบบท่อส่งก๊าซของ ปตท.ได้ ซึ่งในปี 2561 จะนำร่องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเข้าก๊าซ LNG ที่ 1.5 ล้านตันก่อน เพื่อทดลองระบบ หลังจากนั้นประมาณ 2-3 ปี จะเปิดให้เอกชนรายอื่น ๆ เป็นผู้นำเข้าก๊าซต่อไป

“ปริมาณการนำเข้าในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งคาดว่าภายในปี 2566-2567 จะมีการนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต เพื่อมารองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในการปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ของประเทศ หรือ PDP จะมีการปรับปรุงแผนใหม่ภายในเดือนธันวาคมนี้ จะปรับในแง่สัดส่วนการใช้ก๊าซไม่ให้มากจนเกินไปเพื่อความมั่นคงของระบบ”