พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือน ก.ย. 61 เพิ่มขึ้น 1.33% สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกัน

พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือน ก.ย. 61 เพิ่มขึ้น 1.33% สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกัน เหตุราคาพลังงานเพิ่มขึ้นมากถึง 8.10% สูงขึ้น แม้หมวดอาหารจะปรับตัวลดลง 1.16% แต่ก็ดึงเงินเฟ้อลงไม่ได้ พร้อมปรับคาดการณ์ค่ากลางเงินเฟ้อทั้งปี 25641 ใหม่เป็น 1.25% หลังทิศทางราคาน้ำมันยังคงสูงขึ้น

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนกันยายน 2561 เท่ากับ 102.57 เพิ่มขึ้น 1.33% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2560 โดยเป็นการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกัน และเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง แต่ก็ถือว่าเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2561 เพิ่มขึ้น 0.29% ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือนของปี 2561 (มกราคม-กันยายน) เพิ่มขึ้น 1.14%

ทั้งนี้ เงินเฟ้อในเดือนกันยายน 2561 ที่เพิ่มขึ้น มีสาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดพลังงาน โดยเพิ่มขึ้น 8.10% เพิ่มติดต่อกันเป็นเดือนที่ 22 แต่หมวดอาหารสด ลดลง 1.16% หมายความว่า เงินเฟ้อเดือนนี้ ปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของหมวดพลังงาน ที่ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น และค่าโดยสาร เพิ่มขึ้น ส่วนหมวดอาหารที่ลดลง แม้หลายตัวจะลดลง แต่ก็ไม่สามารถดึงเงินเฟ้อในภาพรวมลดลงได้

นอกจากนี้ ยังพบว่าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 0.35% โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น คือ ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่ม 4.48% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 1.98% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.88% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 0.18% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.91% นอกบ้าน เพิ่ม 1.92% ส่วนผักสด ลด 8.52% ผลไม้สด ลด 3.84% ขณะที่หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 1.90% จากการสูงขึ้นของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร เพิ่ม 3.86% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นเฉพาะค่าโดยสาร 0.69% น้ำมันเชื้อเพลิง 11.98% เคหสถาน เพิ่ม 0.67% ยาสูบ เพิ่ม 3.86% และการสื่อสารลด 0.07%

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามความต้องการของราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและราคาผันผวน โดย สนค. ได้ปรับคาดการณ์กรอบเงินเฟ้อใหม่ จากเดิมมีค่ากลาง 1.2% เป็น 1.25% แต่ก็ยังอยู่ในกรอบ 0.8-1.6% และปรับสมมติฐานราคาน้ำมันจากเดิม 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็น 68-73 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เงินบาท 32-44 บาทต่อเหรียญสหรัฐ การบริโภคเพิ่มขึ้น 4.1% เป็นต้น