โค้งสุดท้าย 2 รมต.พลังประชารัฐ “ยังไม่ลาออก” ขอลุยงานต่อ

นับตั้งแต่ได้ประกาศตัวกรรมการบริหารพรรค “พลังประชารัฐ” เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขึ้นรับตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค” และให้ “นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รับตำแหน่ง “เลขาธิการพรรค” ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการทำงานตำแหน่งรัฐมนตรีควบกรรมการบริหารพรรค ซึ่งอาจทำให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบทางการเมือง ควรลาออกหรือไม่

“นายสนธิรัตน์” แถลงข่าวยืนยันเดินหน้าทำงานการเมืองควบตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไป แม้จะยอมรับว่าการสวมหมวก 2 ใบนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีความลำบากและเป็นที่จับตาของทุกฝ่าย แต่ขอให้ดูการทำงานของทุกคนรวมถึงตนว่าสิ่งที่จะทำต่อไปนั้นได้ทำอย่างจริงจัง สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการใช้ประโยชน์จากตำแหน่งจริงหรือไม่

ผลักดันเศรษฐกิจฐานราก

โดยภารกิจสำคัญในฐานะ รมว.พาณิชย์ จะเน้น “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ประชาชน และธุรกิจท้องถิ่นให้มากขึ้น โดยจะใช้มาตรการดูแลยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น และจะผลักดันให้นำสินค้าเกษตรเข้าไปจำหน่ายใน “ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ” เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด ให้สินค้าชุมชน

ขณะเดียวกันจะยกระดับ “ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ” ให้เป็น “โชห่วยไฮบริด” โดยนำระบบอีคอมเมิร์ซมาใช้ พัฒนาให้มีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังมีแผนเร่ง “ขับเคลื่อนภาคธุรกิจบริการ” ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ตามนโยบายรัฐบาล โดยจะเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังแหล่งเพาะปลูกสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน ขยายไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ทำให้เศรษฐกิจฐานรากเกิดการหมุนเวียน และเตรียมจัดตั้ง กรมธุรกิจบริการ เข้ามาดูแลทั้งระบบอีกด้วย

Advertisment

นอกจากนี้ จะเร่งผลักดันออกกฎกระทรวงให้ประชาชนที่ปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินตนเอง สามารถนำมาใช้เป็น “หลักประกันทางธุรกิจ” เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญ เพราะการปลูกไม้ยืนต้น ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างทุนครอบครัว แต่ยังเป็นการช่วยปลูกป่าให้ประเทศด้วยและจะเดินหน้าผลักดันการส่งออก โดยมีแผนจะเดินทางไปขยายตลาดส่งออก และเตรียมประชุมมอบนโยบายทูตพาณิชย์ทั่วโลก ในวันที่ 18 ต.ค. 2561 เพื่อประเมินทิศทางส่งออกโค้งสุดท้ายปีนี้ และในปี 2562 พร้อมเตรียมมาตรการรับมือสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

อุตตมสานต่อ 5 งาน

ด้านนายอุตตม ปฏิเสธไม่ขอตอบคำถามเรื่องการเมืองในเวลาราชการ แต่ก็ยังเดินหน้าทุกภารกิจที่เป็นแผนงานหลักของกระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องถูกขับเคลื่อนต่อไปในปี 2562 ใน 5 เรื่อง คือ 1.การพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 2.การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) 3.จัดทำระบบ big data 4.พัฒนาระบบให้บริการออนไลน์ 5.ยกระดับด้านสิ่งแวดล้อมให้กับโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงโครงการสำคัญอย่าง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การเจรจาและติดตามงานกับนักลงทุนต่างชาติ เช่น ในเดือนตุลาคมนี้ จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น เดินทางมาเพื่อจัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนนวัตกรรมไทย-ญี่ปุ่น ต่อยอดโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) ที่จะสนับสนุนกิจการและสร้างมีอาชีพให้กับผู้สูงวัย

ขณะที่นักลงทุนจีน เกาหลี และยุโรป ก็จะต้องหารือกันต่อเนื่อง ล่าสุดได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดทำรายละเอียดเพื่อให้ข้อมูลแก่บริษัทต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทย รวมถึงการหารือโอกาสการลงทุนให้กับนักลงทุนทั้งหมด เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เตรียมเสนอแผนพัฒนารถประหยัดพลังงานไฟฟ้า (Eco EV) โดยจะเน้นการผลิตชิ้นส่วนมากขึ้น นอกเหนือจากการประกอบและผลิตแบตเตอรี่ จากนั้นจะหารือกับกระทรวงการคลังถึงมาตรการทางภาษีด้วย

Advertisment

“หลังเลือกตั้งทุกโครงการจะยังคงเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะโครงการ EEC ซึ่งมีกฎหมายออกมารองรับแล้ว ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใน EEC จะต้องได้นักลงทุนในรัฐบาลชุดนี้ ตามกรอบที่กำหนดไว้จะเปิด TOR ในเดือน ต.ค. 2561 ทั้ง 4 โครงการหลัก คือ สนามบินอู่ตะเภา ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3”