กนอ.เล็งต่อสัญญาเช่าที่ ร.ฟ.ท. ปลัดอุตฯปิ๊งเปิด PPP รีโนเวตตึกมักกะสัน

บอร์ด กนอ.ไฟเขียวตั้งคณะทำงานเจรจา ร.ฟ.ท.ต่อสัญญาเช่าที่มักกะสัน ก่อนหมดสัญญาปี 2565 “ปลัดพสุ” แง้ม 2 ทางเลือกย้ายที่ทำการใหม่ไปนิคมบางชัน-เปิด PPP รีโนเวตตึกใหม่จ่ายค่าเช่าเพิ่ม 3 เท่า “อุตตม” มอบนโยบายผู้ว่าการ กนอ. 25 ต.ค.นี้

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานบอร์ดการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา ตามที่ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาแนวทางการดำเนินงานและการลงทุนรูปแบบใหม่ของการนิคมฯ เนื่องจากอาคารสำนักงานการ

นิคมฯบริเวณเขตมักกะสัน ซึ่งเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย กำลังจะหมดสัญญาเช่าในปี 2565

เบื้องต้นทางคณะทำงานชุดดังกล่าวเข้าหารือกับทางการรถไฟฯไปแล้ว เพื่อขอต่อสัญญาเช่าพื้นที่เดิมตรงมักกะสัน พร้อมทั้งได้วางแนวทางรองรับไว้ 2 แนวทาง กล่าวคือ แนวทางแรก ในกรณีที่การรถไฟฯให้เช่าพื้นที่ต่อการนิคมฯ จะต้องทำตามเงื่อนไขที่กำหนดให้มีการลงทุนปรับปรุงหรือทุบอาคารเก่าทั้งหมดทิ้ง แล้วสร้างใหม่ให้เป็นตึกที่มีรูปแบบที่ทันสมัยแบบเดียวกันทั้งหมด ทั้งโซนมักกะสัน ตามแผนของการรถไฟฯ โดยทางการนิคมฯอาจจะใช้รูปแบบการเปิดให้ลงทุนสร้างตึกแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ (Public Private Partnership : PPP) ซึ่งถือเป็นรูปแบบการลงทุนธุรกิจแบบใหม่ของการนิคมฯ โดยจ่ายค่าเช่าเพิ่มเป็น 3 เท่า

สำหรับแนวทางที่ 2 หากการรถไฟฯไม่ต่อสัญญาทาง กนอ.จะต้องย้ายสำนักงานการนิคมฯไปที่นิคมอุตสาหกรรมบางชัน มีนบุรี

“แม้พื้นที่การนิคมฯจะหมดสัญญาในปี 2565 แต่เราจำเป็นต้องคุยกันไว้ก่อน ตามแผนใหญ่ของการรถไฟฯเองเขาจะเวนคืนโซนมักกะสันแถบนั้นทั้งหมด และจะจัดทำเป็นอาคารรูปแบบที่ทันสมัยทั้งโซน อาจเป็น community mall หรือ mixed-use ดังนั้น หากเราจะต่อสัญญาและตั้งอยู่ที่เดิมเราก็ต้องปรับปรุงอาคารให้เป็นไปตามรูปแบบเดียวกันทั้งโซน คณะทำงานเราก็ต้องไปศึกษาแนวทางการดำเนินงานและลงทุนรูปแบบใหม่ของเรา ที่เปลี่ยนไปจากเดิม ที่เราเน้นลงทุนพัฒนาพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรมสำหรับโรงงาน แต่ในอนาคตรูปแบบเปลี่ยนไป คือ เราอาจใช้วิธีการเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนร่วมสร้างตึกใหม่กับเรา หรือเปิด PPP และเราก็เช่าพื้นที่ส่วนเดียวต่อจากตึกที่เอกชนสร้างขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 แนวทางยัง

คงมีเวลาในการศึกษาเพื่อให้เหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด โดยคณะทำงานจะรายงานความคืบหน้ากับบอร์ดที่จัดการประชุมขึ้นทุก ๆ เดือน และในวันที่ 25 ต.ค.นี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมมอบนโยบายให้กับการนิคมฯหลังจากที่ได้ผู้ว่าการการนิคมฯคนใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติ บทบาทหน้าที่ที่มีทั้งใน พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (อยู่ระหว่างการแก้ไข) และภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 (EEC)

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวถึงยุทธศาสตร์การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 ว่า งานหลักจะยังคงมุ่งส่งเสริมและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับนักลงทุนและกลุ่มอุตสาหกรรมในทุกประเภทโดยเฉพาะ (S-curve)

โดย 2 พื้นที่หลัก คือ 1.การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งขณะนี้เตรียมประกาศเชิญชวนนักลงทุนในโครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ในเดือน ต.ค.นี้

และนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค จ.ระยอง 2.การพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน (SEZ) ใน จ.สระแก้ว แม่สอด (จ.ตาก) สะเดา (จ.สงขลา)

ทั้งนี้ กนอ.เตรียมเงินลงทุนไว้สำหรับปี 2562 ที่ 17,122 ล้านบาท เป็นส่วนของการลงทุน PPP ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ถึง 12,900 ล้านบาท การลงทุนด้านสาธารณูปโภคใหม่ 1,831 ล้านบาท การลงทุนในงานปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค 2,391 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มการลงทุนใหม่ในช่วงปี 2562 จะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญสนับสนุน อาทิ การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ มาตรการจูงใจให้เอกชนมาร่วมลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ กนอ.ที่จะให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนที่เข้ามาใช้พื้นที่นิคมทุกแห่งหลังจากประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษแล้ว

สำหรับผลการดำเนินงานของ กนอ. ระยะเวลา 12 เดือน (ต.ค. 2560-ก.ย. 2561) มียอดขายพื้นที่/เช่า ที่บวกพื้นที่ของเอกชนจำนวน 1,377 ไร่ มีเงินลงทุนรวมกว่า 28,042 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 3,446 คน โดยการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจสูงสุด ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมคลังสินค้า 2.อุตสาหกรรมผลิตโลหะขั้นมูลฐาน 3.อุตสาหกรรมเครื่องเรือนหรือเครื่องตกแต่งในอาคารจากไม้ แก้ว ยาง หรือโลหะอื่น ๆ 4.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ 5.อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ ซึ่ง 5 อันดับนักลงทุนต่างชาติที่มีการลงทุนมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์

ปัจจุบัน กนอ.มีนิคมอุตสาหกรรม55 แห่ง ใน 16 จังหวัด โดยมีพื้นที่สำหรับขาย/เช่า (รวมพื้นที่ระบบสาธารณูปโภค) ประมาณ 108,470 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่ขายและเช่าแล้วจำนวน 88,166 ไร่ และคงเหลือพื้นที่พร้อมสำหรับขาย/เช่าอีกจำนวน 20,304 ไร่ มูลค่าการลงทุนสะสมทั้งสิ้น 2,977,973 ล้านบาท มีผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม 4,438 ราย และมีการจ้างงานรวม

ทั้งสิ้น 464,667 คน