EEC ลุยดึงลงทุนจากอุตฯ New S-Curve ดัน GDP ได้ถึง 2%

ที่ประชุม กบอ.ปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนจาก 5 อุตสาหกรรมใหม่ “หุ่นยนต์ อากาศยาน ไบโอเคมีชีวภาพ ดิจิทัล การแพทย์” เป็น 50% จากเป้าการลงทุนจาก EEC 100,000 ล้านบาท “คณิศ” มั่นใจช่วยดัน GDP ได้อีก 2% พร้อมเปิดไทม์ไลน์ TOR 4 โครงการ พ.ย.นี้

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) เมื่อวันที่ 1 พ.ย.61 ว่าที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในปีที่ผ่านมาและการดำเนินงานในปี 2562 ที่จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเห็นชอบอีกครั้งในวันที่ 9 พ.ย.นี้

สำหรับแนวทางหลักดำเนินการได้แก่ 1.แผนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการชักจูงการลงทุน (โรดโชว์) 2.การจัดทำแผนผังประโยชน์การใช้ที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่จะร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองซึ่ง คาดว่าร่างจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือน ก.พ.2562

3.การจัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือกองทุน EEC ที่จะมีเงินกองทุน 1,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาพื้นที่ชุมชนและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เบื้องต้นได้รับงบดำเนินงาน 100 ล้านบาท 4.แผนงานประชาสัมพันธ์เชิงรุก ขณะเดียวกันได้เริ่มทำการศึกษาเพื่อขยายพื้นที่ใกล้เคียงออกไปอีก 3 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรปราการ ปราจีนบุรี สระแก้ว

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า แผนการดำเนินงานระยะที่ 3 ของ สกพอ.คือการลงทุนที่จะทำแผนเชิงรุกกำหนดเป้าหมายในปี 2562-66 ที่จะร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกระทรวงต่างประเทศใกล้ชิดเพื่อดึงการลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายปีละ 100,000 ล้านบาทต่อปีหรือ 500,000 ล้านบาทใน 5 ปีจากนี้ไป

โดยเป้าหมายการลงทุนในอีอีซีที่วางไว้เฉลี่ยปีละ 200,000 ล้านบาทเมื่อรวมกับของ สกพอ.อีก 100,000 ล้านบาท ก็จะมีส่วนเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจหรือ GDP 2% โดย 1% จะมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและอีก 1% มาจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนั้น GDP ของไทยเฉลี่ยโต 3% ก็จะทำให้ GDP ไทยโต 5% ต่อปีได้ แต่ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับทิศทางของเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ”

สำหรับสัดส่วนปรับให้มาจาก New S-Curve มากขึ้น เป็น 50% จากเดิมอยู่ที่เพียง 30% เท่านั้น โดยมาจาก ไบโอชีวภาพ 25% ดิจิทัล 25% หุ่นยนต์ 20% การบิน 20% การแพทย์ 10%

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า นับตั้งแต่มีนโยบาย EEC ปี 2559-ก.ย.2561 พบว่ามีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนใน EEC มูลค่า 720,00 ล้านบาท เมื่อแยกเฉพาะการขอรับส่งเสริมฯปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) 230,000 แสนล้านบาท คาดว่าปีนี้ทั้งปีจะได้ตามเป้าหมาย 300,000 ล้านบาท โดยคำขอส่วนใหญ่ 80% จะเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่างไรก็ตามการประชุมบอร์ดบีโอไอ 19 พ.ย.นี้ จะเสนอแพคเกจการส่งเสริมการลงทุนเมืองอัจฉริยะ (Smart City)