พาณิชย์เตรียมเสนอของบ คชก.ช่วยดันส่งออกไข่ไก่ 60 ล้านฟองออกจากระบบ หลังล้นตลาดดันให้ราคาไข่ไก่ตกต่ำ

พาณิชย์เตรียมเสนอของบ คชก.ช่วยดันส่งออกไข่ไก่ 60 ล้านฟองออกจากระบบ หลังล้นตลาดดันให้ราคาไข่ไก่ตกต่ำ ด้านเอกชนยอมขายขาดทุน 50 สต.ต่อฟองในการส่งออกพร้อมจะช่วยเก็บสต๊อกไข่ไก่ไว้ เพื่อให้ราคาสูงขึ้น ขณะที่กรมการค้าภายในจะกระจายไข่ไก่ผ่านธงฟ้าประชารัฐและร้านค้า 10 ล้านฟองอีกด้วย

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมหารือร่วมกรมปศุสัตว์ ผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยและรายใหญ่ รวมทั้งผู้ส่งออกไข่ไก่ เพื่อแก้ไขถึงปัญหาสถานการณ์ปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำในปัจจุบัน ว่าที่ประชุมเห็นชอบสำหรับมาตรการเร่งด่วนที่จะช่วยแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ให้ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันล้นตลาด 60 ล้านฟอง จึงต้องดึงไข่ไก่ส่วนเกินออกจากระบบ ดังนั้น ที่ประชุมได้ข้อสรุปแบ่งเป็น 3 แนวทาง เพื่อแก้ไขปัญหาซึ่งเป้าหมายดึงราคาไข่ไก่ให้สูงขึ้น และลดปริมาณไข่ไก่ที่ล้นตลาด คาดว่าภายใน 3 เดือนจะเห็นผลอย่างแน่นอน

สำหรับมาตรการ 1.จะของบประมาณจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) หรือขออนุมัติจากงบกลาง 15 ล้านบาท เพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ส่งออกไข่ไก่ ผลักดันไข่ไก่ออกตลาดต่างประเทศ เป้าหมาย 60 ล้านฟอง ในระยะเวลา 3 เดือน ขณะที่ส่วนที่เหลือที่ผู้ส่งออกจะต้องแบกรับสำหรับภาระค่าใช้จ่ายจากการผลักดันการส่งออก เพราะผู้ส่งออกต้องขายในราคาขาดทุนฟองละ 1 บาท เพื่อที่จะส่งออกไปได้

“การส่งออกไข่ไก่ 60 ล้านฟอง นั้นจะต้องใช้เงินประมาณ 30 ล้านบาท ในจำนวนนี้ผู้ค้าจะขาดทุนจากการส่งออก 1 บาท/ฟอง และเพื่อแบ่งเบาภาระให้กับผู้ส่งออก จึงออกมาตรการช่วยโดยสนับสนุนฝ่ายรัฐจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายคัดเกรด บรรจุภัณฑ์ ตกฟองละ 50 สตางค์ ขณะที่ผู้ค้า ผู้ส่งออกก็รับภาระ 50 สตางค์ต่อฟอง หรือฝ่ายละ 15 ล้านบาทที่ต้องรับผิดชอบไป เพราะผู้ส่งออกยอมจะขาดทุนเพื่อดันส่งออกในไข่ไก่ส่วนเกินให้ออกไป”

พร้อมจะของบประมาณจาก คชก.วงเงิน 130-140 ล้านบาท มาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้กับผู้เลี้ยงในการนำไข่ไก่ 60 ล้านฟองเก็บเข้าห้องเย็น เพื่อดึงไข่ไก่ออกจากระบบเป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งเงินส่วนนี้จะต้องนำกลับมาคืนรัฐเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของมาตรการ ส่วนรายละเอียดของงบประมาณจะต้องพิจารณารายละเอียดต่อไป 2.การผลักดันให้มีการบริโภคไข่ไก่เพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันไข่ไก่ 10 ล้านฟอง ขายผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐ 4.5 หมื่นแห่ง และขายผ่านงานมหกรรมธงฟ้าอีก 20 จังหวัด เพื่อเพิ่มการบริโภคไข่ไก่ให้มากขึ้น

และ 3.จะผลักดันให้ลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงจากปัจจุบัน 57 ล้านตัว เป้าหมายลดลง 10% เพื่อไม่ให้เกิน 52 ล้านตัว ซึ่งจะทำให้ผลผลิตไข่ไก่ลดลงจาก 48 ล้านฟองต่อวันมาอยู่ที่ 40 ล้านฟองต่อวัน ใกล้เคียงกับความต้องการบริโภค อีกทั้งให้ลดการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ จากปัจจุบัน 5.5 แสนตัวมาอยู่ที่ 5 แสนตัว โดยจากนี้ทางผู้เลี้ยงและกรมปศุสัตว์จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด) พิจารณาเพื่อกำหนดสัดส่วนแม่ไก่ไข่ยืนเข้าและการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ยกเว้นรายย่อย

อย่างไรก็ดี หลังจากที่มีข่าวว่าจะออกมาตรการช่วยเหลือไข่ไก่ออกไปนั้น ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มวันนี้ปรับขึ้นมา 20 สตางค์ อยู่ที่ 2.50 บาท/ฟอง โดยเชื่อว่าหลังจากการใช้มาตรการดังกล่าวแล้วจะทำให้ราคาไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าจะดึงราคาไข่ไก่ให้ขึ้นมาอยู่ที่ 2.80 บาทต่อฟอง ซึ่งจะเป็นราคาที่ผู้เลี้ยงไม่ขาดทุน ทั้งนี้ กรมฯจะเร่งสรุปและข้อเสนอให้กับทาง คชก.เพื่อดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้อง

สำหรับราคารับซื้อไข่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ 2.30 บาทต่อฟอง ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนผลิตไข่ไก่อยู่ที่ 2.80 บาทต่อฟอง และบางพื้นที่ผู้เลี้ยงรายย่อยขายไข่ไก่ได้ต่ำกว่า 2 บาทต่อฟอง เนื่องจากขณะนี้มีไข่ไก่ล้นตลาดมาก หากจะดูดซับปริมาณที่ล้านตลาดในตอนนี้ ต้องใช้การบริโภค 2-3 วันถึงจะหมด พร้อมกันนี้ ยังมีไข่ไก่ส่วนเกินที่ออกมาใหม่เข้ามาสมทบเพิ่มเติม อีกวันละ 10 ล้านฟอง หรือมีไข่ไก่ออกสู่ตลาดประมาณ 50 ล้านฟองต่อวัน โดยมากกว่าการบริโภค 40 ล้านฟองต่อวัน

นายสุรชาติ กำหอม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ กล่าวว่า สมาคมฯจะเข้ามาช่วยเรื่องการผลักดันไข่ไก่ออกต่างประเทศ โดยตลาดส่งออกไข่ไก่สำคัญของไทย เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และตะวันออกกลาง แต่อย่างไรก็ดี ทางสมาคมฯก็จะหาตลาดอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อที่จะผลักดันจากปกติส่งออกประมาณ 50 ตู้ เพิ่มเป็น 200 ตู้ เพื่อให้ได้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อดึงส่วนเกินไข่ไก่ออกจากระบบ ขณะที่ในส่วนของเกษตรกร นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ กล่าวว่า พอใจกับมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งหากผลักดันให้ราคาไข่ไก่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เกษตรกรไม่ขาดทุน