GPSC “อุทธรณ์” คำตัดสิน กกพ. ห้ามซื้อหุ้น GLOW

เป็นไปตามความคาดหมาย เมื่อบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC โดยที่ประชุมคณะกรรมการได้ตัดสินใจ “อุทธรณ์” คำสั่งของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กรณีที่ กกพ.มีมติเป็นเอกฉันท์ “ไม่อนุมัติ” ให้ GPSC “รวมกิจการ” ด้วยการเข้าไปซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW โดย GPSC ได้ทำหนังสือแจ้งมติที่ประชุมดังกล่าวไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา หรือเพียง 8 วันหลังจาก กกพ.มีมติ โดยมีข้อสังเกตว่า หนังสือของ GPSC ก็ไม่ได้แจ้งว่าจะยื่นอุทธรณ์คำสั่ง กกพ.ประเด็นไหน ?

ทั้งนี้ กกพ. เห็นว่า การเข้าซื้อหุ้น GLOW (จากผู้ขาย Engie GlobalDevelopments B.V.) จำนวน 1,010,976.033 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 69.11 ในราคาหุ้นละ 96.5 บาท คิดเป็นเงิน 97,559 ล้านบาท ของบริษัท GPSC นั้น ถือเป็นการ “ลดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน” ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดต่อเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 (มาตรา 60 พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน-ห้ามมิให้มีการกระทำการใด ๆ อันเป็นการผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน)

เนื่องจากหากปล่อยให้เกิดการรวมกิจการครั้งนี้จะส่งผลให้พื้นที่อุตสาหกรรมในบางพื้นที่จะมีบริษัทที่มีอำนาจการบริหารกิจการไฟฟ้าลดลงเหลือเพียงรายเดียว “จึงเป็นการลดการแข่งขัน” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ จะเกิดการ “ผูกขาด” กิจการไฟฟ้าเกิดขึ้นเพียงรายเดียว แม้จะมีการให้บริการไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อยู่ในพื้นที่นั้นก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถทดแทนกันได้ เนื่องจาก “เหตุผลทางคุณภาพ” (ซึ่งก็ไม่ได้กล่าวไว้ว่าคืออะไร)

ประกอบกับลูกค้าในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้นต้องการความมีเสถียรภาพ (ทางด้านไฟฟ้า) รวมทั้ง กฟภ.เองยังต้องจำหน่ายไฟฟ้าในราคาเดียวกันทั้งประเทศ (uniform tariff) หรือ กกพ.กลัวว่า ลูกค้าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเดิมของ GLOW จะไม่ได้ “ส่วนลด” หาก GPSC มาขายไฟฟ้าแทน GLOW นั่นเอง

การพิจารณาการรวมกิจการดังกล่าวเป็นไปตามหนังสือร้องเรียนขององค์กรธุรกิจ-นักธุรกิจ และนักการเมือง อาทิ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึงการ “กดดัน” จากเครือข่ายพลังงานภาคประชาชน

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถึงการอุทธรณ์คำสั่งของ GPSC ว่า เคารพคำตัดสินของ กกพ. “เหมือนศาลยุติธรรมตัดสินลงมา” เชื่อว่า กกพ.มีเหตุผลในการตัดสินแบบนั้น “แต่เรา (GPSC) ก็มีสิทธิจะอุทธรณ์ หรือจะฟ้องต่อศาลปกครองได้” ก็ต้องเดินตามทางนี้ ส่วนการฟ้องศาลหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การเข้าไปซื้อหุ้นของ GLOW ได้ก่อให้เกิดความกังวลในแง่ที่ว่า เดิม ปตท.เป็นผู้ค้าก๊าซมีความได้เปรียบอยู่แล้ว “ถ้า ปตท.เข้ามาสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าด้วยก็ยิ่งเป็นการผูกขาด คนเขากังวลตรงนี้” แต่ถ้าลองมาพิจารณาดูว่า การเริ่มต้นธุรกิจพลังงานของ ปตท.ในช่วงนั้นไม่มีใครกล้าลงทุน เพราะต้องใช้เงินเป็นหมื่น ๆ ล้านในการวางท่อก๊าซ โรงแยกก๊าซ สำรวจขุดเจาะก๊าซ “ไม่มีใครยอมลงทุน รัฐก็ให้ ปตท.เข้ามาทำ” และเกิดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขึ้น

ส่วนกิจการโรงไฟฟ้านั้น รัฐบาลเปิดประมาณ 20 ปีมาแล้ว และ ปตท.ไม่เคยทำโรงไฟฟ้ามาก่อนหน้านี้ เพราะมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว แต่ปัจจุบันมาร์เก็ตแชร์ของ กฟผ.อยู่ที่ 30% อีก 70% เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนทั้งสิ้น “แล้วทำไม ปตท.ถึงไม่มีสิทธิ์ทำโรงไฟฟ้าล่ะ” และการทำโรงไฟฟ้า ปตท.ก็ไม่ได้ทำเอง แต่ให้บริษัทในเครือ คือ GPSC บริษัทนี้เอาโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก-ขนาดย่อมที่มีอยู่แล้วของ ปตท. มารวมกัน ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าไทยออยล์ หรือ IRPC มาตั้งเป็นบริษัท (GPSC) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2558 ไม่มีการรอนสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการใช้อำนาจใด ๆ (รัฐวิสาหกิจ) มาตั้งบริษัทไฟฟ้า

“บทบาทของ ปตท. คือ ต้องทำความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ในส่วนของ GPSC ก็เช่นกัน ต้องทำความมั่นคงให้กับโรงงานอุตสาหกรรม เราทำมา 20-30 ปี เสิร์ฟโรงงานของเรา แต่เมื่อซื้อ GLOW เข้ามาเราต้องไปเสิร์ฟคู่แข่งด้วย คนเลยกังวลว่า เราจะไปทำลายคู่แข่งรึเปล่า เช่น อยู่ ๆ เขากำลังขยายกิจการ แล้วเราไปตัดไฟเขา หรือไปขึ้นค่าไฟฟ้า คิดแพงกว่าคนอื่น ทำให้ต้นทุนโรงงานเขาเพิ่มขึ้น ประเด็นนี้เองที่คนเขากังวลกันว่า เราไปทำลายคู่แข่งรึเปล่า การรวมกิจการก่อให้เกิดผลกระทบกับลูกค้าเดิมของ GLOW หรือไม่ ซึ่งมันไม่ใช่ ดังนั้น บอร์ด GPSC จึงเห็นสมควรให้ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง กกพ.ในที่สุด” นายชาญศิลป์กล่าว