WHA ผนึกยูนนาน เอ็นเนอร์ยีจ่อลงทุนเชื่อมไทย-OBOR ดีเดย์เปิดนิคมแห่งที่ 10 ประเดิมขายที่ 300 ไร่ ให้นักลงทุนอุตสาหกรรมออโต้จีน พ.ย.นี้

WHA ผนึกยูนนาน เอ็นเนอร์ยีจ่อลงทุนเชื่อมไทย-OBOR ดีเดย์เปิดนิคมแห่งที่ 10 ประเดิมขายที่ 300 ไร่ ให้นักลงทุนอุตสาหกรรมออโต้จีน พ.ย.นี้ พร้อมเปิดแผนปี 62 เดินหน้าขยายการลงทุนขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ 2 โรงไฟฟ้า 138 เมกะวัตต์

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท WHA Corporation เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าจากการที่ทาง WHA ได้เดินทางร่วมคณะรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ไปเยือนประเทศจีน โดยเข้าร่วมงานแสดงสินค้านำเข้าระหว่างประเทศของจีน (China International Import Expo :CIIE) โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท ยูนนาน เอ็นเนอร์จี อินเวสเมนท์ โลจิสติกส์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือ ยูนนาน เอ็นเนอร์จี กรุ๊ป เพื่อศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการลงทุนเพื่อเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์จากเส้นทางสายไหมใหม่ (One Belt One Road : OBOR)

ทั้งนี้ เส้นทางดังกล่าวจะประกอบไปด้วย 3 เส้นที่เชื่อมมายังไทย ได้แก่ 1) เส้นจากยูนนาน-เมียนมา-ไทย 2) คุนหมิง – ลาว- ไทย และ 3) จีน – เวียดนาม -กัมพูชา-ไทย โดยรัฐบาลจีนต้องการใช้ยูนนานเป็นเกตเวย์เชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“บริษัทยูนนานฯ เป็นกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงาน โลจิสติกส์ โอเปอเรชั่นต่างๆ การศึกษาร่วมกันครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อพิจาณาโอกาสการลงทุน ซึ่งหากมีการลงทุนเต็มรูปแบบคาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ทางยูนนานฯ ได้หารือกับทางรัฐบาลลาวแล้ว เพื่อขอการสนับสนุนเรื่องศุลกากร การค้าชายแดน และทางกำลังหารือกับทางเวียดนามด้วย ซึ่งการมาทำ MOU ครั้งนี้ ทางยูนนานต้องการให้รัฐบาลไทยช่วยสนับสนุนเรื่องการลงทุนเช่นกัน เพราะเส้นทางนี้จะเชื่อมจากจีนมายังไทย ซึ่งจะกระจายเข้าสู่ อีอีซีด้วย ”

นางสาวจรีพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือนนี้บริษัทฯ จะเปิดตัวนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 10 ในพื้นที่อีอีซี จ.ชลบุรี พื้นที่ 2,197 ไร่ โดยในพื้นที่นี้จะได้รับสิทธิประโยชน์จากอีอีซี ทั้งนี้การเปิดตัวดังกล่าวจะมีขึ้นพร้อมทำสัญญากับลูกค้ารายแรกซึ่งเป็นบริษัทอุตสาหกรรมยานยนต์ จากจีน ซึ่งได้เข้ามาซื้อที่ 300 ไร่ เพื่อตั้งโรงงานผลิต นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อ Joint Venture กับ เอกชน 1-2 ราย ด้านโลจิสติกส์

นอกจากนี้ในเดือนธันวาคมบริษัทมีแผนจะขายหน่วยทรัสต์กองทุน 2 กองทุน คือ กองทุนเพื่อระดมทุน 4,464 ล้านบาทให้กับ WHART และกองทุนเพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เหมราช (HREIT) อีก 500 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เห็นว่าในปีหน้า ทาง WHA มีนโยบายที่จะนำเงินไปใช้ในการลงทุนในธุรกิจในเครือหลายโปรเจ็ค ประกอบด้วย การทยอยซื้อที่ดินสะสมเพื่อขยายนิคมในกลุ่ม WHA โดยขณะนี้บริษัทได้มีการลงทุนซื้อที่ดินเพิ่มไปแล้ว 10,000 ไร่ในปีนี้ และยังมีในส่วนที่ร่วมกับ IRPC อีก 2,000 ไร่ ทำให้มีที่ดิน 50,000 ไร่ ขายไป 10,000 ไร่ พร้อมทั้งจะมีการลงทุนระบบสาธารณูปโภคในนิคม การพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า การทำอีคอมเมิร์ช พาร์ค ที่จ.ฉะเชิงเทรา

อีกทั้งยังมีแผนจะขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ (COD) 2 โรงคือ โรงไฟฟ้า SPP ที่ได้ Joint Venture กับ GULF เข้าสู่ระบบ ในเดือนมกราคม 2562 มีกำลังการผลิต 130 เมกะวัตต์ โดยบริษัทเข้าไปถือหุ้น 25% หรือคิดเป็น 35 เมกะวัตต์ ซึ่งจะขายเข้าสู่ระบบสายส่ง (GRID) 90% และยังมีอีกส่วนที่จะขายระบบสตรีมมิ่ง ให้กับลูกค้าในนิคมฯ หลังจากนั้นในไตรมาส 4 ปี 2562 จะมี โรงไฟ้ฟ้าขยะขนาด 8 เมกะวัตต์ ที่ทางบริษัทเข้าไปถือหุ้น 1 ใน 3 หรือ 2-3 เมกะวัตต์ ซึ่งจะหน่ายเข้าสู่กริด ซึ่งทั้งหมดเป็นแผนการขยายเพิ่มจากปีนี้ที่มีโรงไฟฟ้โซลาร์ฯ ที่มีกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์