รพ.เอกชนค้านขึ้นบัญชีควบคุม กกร.ประชุม 9 ม.ค. แก้ค่ารักษาแพงเว่อร์

โรงพยาบาลเอกชนค้านขึ้นบัญชีควบคุมค่าบริการทางการแพทย์ ชี้ต้นทุนแต่ละโรงพยาบาลต่างกัน หลังพาณิชย์เตรียมชง กกร.ขึ้นบัญชีควบคุม 9 ม.ค.นี้

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า วันที่ 9 ม.ค. 2562 กรมจะเสนอคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. พิจารณาขึ้นบัญชีค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการโรงพยาบาลเป็นสินค้าและบริการในบัญชีควบคุม เพื่อกำหนดมาตรการในการดูแล โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการเข้ามาดูแลเรื่องดังกล่าวตามที่กรมได้ประชุมรับฟังความเห็นร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา เบื้องต้นค่ายาและเวชภัณฑ์เมื่อพิจารณาให้เป็นสินค้าควบคุมแล้ว จะให้คณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งพิจารณาต้นทุนค่ายาเพื่อหาราคาเพดานที่เหมาะสมเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะเห็นว่าราคายาแต่ละโรงพยาบาลมีต้นทุนต่างกัน ส่วนค่าเวชภัณฑ์กับค่าบริการเตรียมนำมาพิจารณาเป็นลำดับถัดไป

ประเด็นค่าบริการต้องยอมรับว่าแต่ละโรงพยาบาลมีความแตกต่างกัน โดยที่ประชุมให้ความสำคัญเรื่องการให้บริการฉุกเฉินต้องการให้คิดเป็นมาตรฐานและราคาเดียวกัน รวมทั้งค่าวิชาชีพแพทย์ซึ่งมีข้อกฎหมายเกี่ยวข้องอยู่แล้ว

“กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินรักษาพยาบาลฟรีภายใน 72 ชั่วโมง หลังจากนั้นควรกำหนดค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสมอย่างไร ซึ่งมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคเสนอว่าควรเป็นอัตราเดียวกัน”

รายงานข่าวระบุว่า ตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมประชุม อาทิ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ สมิติเวช วิภาวดี บีเอ็นเอช บางปะกอก 3 สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มีข้อเสนอให้กำกับค่ารักษาพยาบาลของบริการฉุกเฉินให้เป็นราคาเดียว ภายหลังการรักษา 72 ชั่วโมง และควรกำหนดหลักเกณฑ์ว่าบริการใดฟรีหรือไม่ฟรี ส่วนค่าผ่าตัด ค่าหัตถการ ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ต้องไปพิจารณาในคณะอนุกรรมการชุดใหม่ที่จะตั้งขึ้น 9 มกราคม 2562

นายแพทย์พร้อมพงษ์ พีระบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิภาวดี กล่าวเพิ่มเติมว่า การออกมาตรการบังคับทางกฎหมายจะทำให้ โรงพยาบาลเอกชนไม่มีความหลากหลายในการบริการ และเห็นว่าการกำหนดเพดานควบคุมต้องให้มีความเหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนทำประกันเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาล

ทั้งนี้ หากกำหนดไม่เหมาะสมทำให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชนได้รับผลกระทบเพราะค่าบริหารจัดการแตกต่างกัน เช่น โรงพยาบาลวิภาวดีมีสัดส่วนค่าแพทย์ 20-23% ค่ายา 30% ค่าแล็บ-เอกซเรย์ 10% ที่เหลือเป็นค่าบริการอื่น ๆ เช่น ค่าห้อง ค่าอาหาร เฉลี่ยโรงพยาบาลระดับกลางค่าห้อง 2,000 บาท/คืน โรงพยาบาลเกรดพรีเมี่ยมไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท/คืน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนหลายราย ให้ความเห็นว่า กรณีที่รัฐบาลกำหนดเพดานราคายาและบริการ เพื่อนำบริการทางการแพทย์เข้าสู่บัญชีควบคุมนั้น รัฐบาลคงต้องวางแนวทางที่นิ่มนวล เพราะต้นทุนโรงพยาบาลเอกชนเทียบกับรัฐบาลแตกต่างกัน ประชาชนมีสิทธิในการเลือกใช้บริการตามความเหมาะสม

“ถ้าจะกำหนดให้ราคายา รพ.เอกชนเท่ากับ รพ.รัฐบาลคงเป็นไปไม่ได้ เพราะต้นทุนไม่เท่ากัน ปัญหานี้ต้องค่อย ๆ แก้และหาทางออกที่นิ่มนวล”

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลเข้ามากำหนดราคายาและบริการ แต่ท้ายที่สุด รพ.เอกชนก็มีทางออกในการขึ้นค่าบริการหรือราคายาทางอ้อม เช่น การตรวจเลือด การเก็บค่าผลแล็บต่าง ๆ เป็นต้น