กระทรวงทรัพย์ฯเดินหน้า 4 มาตรการสกัดฝุ่นพิษ ลั่นหากเอาไม่อยู่เรียกถก”คกก.สิ่งแวดล้อม”

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมประชุมคณะกรรมการควบคุมมลพิษพรุ่งนี้ เดินหน้ามาตรการ 4 ระดับสกัดฝุ่นพิษ วางแผนระยะสั้น-ยาวพร้อม ลั่นหากเอาไม่อยู่เกิน 100 มคก./ลบ.ม.ต่อเนื่อง-ยาวนานเตรียมเรียกประชุมคกก.สิ่งแวดล้อม พร้อมเสนอนายกฯออกคำสั่ง ส่วนระยะยาวรัฐเร่งเพิ่มการขนส่งระบบราง อีก 2,000 กม.แก้ปัญหาอีก 4 ปีข้างหน้า ฟุ้งไทยลดก๊าซเรือนกระจกได้ 12% เกินเป้าหมายที่ให้ไว้ในความตกลงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในเขต กทม.และปริมณฑลว่า ในวันพรุ่งนี้(24 ม.ค.62) มอบให้ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธาน คณะกรรมการควบคุมมลพิษประชุม เพื่อกำหนดมาตรการดูแลปัญหาตามแนวทางนโยบายที่กระทรวงวางไว้ 4 ระดับ (ตามตาราง)

“ คณะกรรมการฯชุดปลัดจะทำงานคู่ขนานไปกับทางพื้นที่ ซึ่งหากตรวจพบว่าพื้นที่จังหวัดในกรุงเทพหรือปริมณฑลจังหวัดใดมีค่าฝุ่นละอองเกินกว่ามาตรฐานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาใช้กฎหมายป้องกันแบะบรรเทาสาธารณภัยและกฎหมายกระทรวงสาธารณสุขที่ให้อำนาจในการควบคุมพื้นที่ที่ทำให้เกิดความรำคาญต่อประชาชนโดยให้หยุดกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ เฉพาะในพื้นที่ที่ประสบปัญหาจนกว่าสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ”

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบรายงานค่าวัดฝุ่นละอองในอากาศวันนี้พบว่า ค่าไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม หรืออยู่ในระดับที่ 1-2 เท่านั้น ซึ่งหากระดับความรุนแรงของฝุ่นเกินกว่า 100 มคก./ลบ.ม.หรือระดับ 4 ต่อเนื่องและยาวนาน(เกิน 3 วัน ) ตนในฐานะรองประธานจะเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมชาติเรียกประชุมและเสนอ ให้นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งกำหนดระดับมาตรฐานการดูแลต่างๆ ทันที เช่น จำกัดจำนวนรถบรรทุกให้เข้ากรุงเทพและปริมณฑลในช่วงเวลา 21.00-05.00 น. รวมถึงมาตรการต่างๆต้องคำนึงถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพ

“ขณะนี้สั่งการให้กรมควบคุมมลพิษวิเคราะห์สภาพอากาศทุกวันโดยอาศัยข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าในช่วงวันที่ 28 ถึง 29 มกราคมนี้ อาจจะต้องมีการเฝ้าระวังมากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะกระแสลมอ่อนลงทำให้ฝุ่นไม่สามารถพัดพาฝุ่นออกไปได้ ทั้งนี้หากระดับความรุนแรงของฝุ่นเพิ่มขึ้น ทางกระทรวงก็จะเพิ่มระดับความเข้มข้นมาตรการ”

 

สำหรับมาตรการระยะเร่งด่วน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ประสานงานไปยังกระทรวงพลังงานซึ่งได้รับทราบว่าจะรณรงค์การใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 20 (B20) เพิ่มขึ้น โดยขอให้ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.และบางจาก ในเขตพื้นที่กรุงเทพและรอบปริมณฑลเปิดจุดให้บริการรถบรรทุกขนาดใหญ่เติมน้ำมันดี 20 แทนดีเซลเริ่มในสัปดาห์หน้า โดยกระทรวงพลังงานจะชดเชยส่วนต่างให้สามารถจำหน่ายในราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจากเดิมถูกกว่าลิตรละ 3 บาทเป็น 5 บาท ให้มีการกระตุ้นการใช้น้ำมันบี 20 มากขึ้น ทั้งนี้ การเพิ่มการชดเชยจะไม่สร้างภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

“ เชื่อว่าเมื่อมีการเพิ่มการใช้น้ำมันดี 20 จะทำให้สถานการณ์คลี่คลาย ส่วนการแก้ไขปัญหาการจราจรรวมถึงจำนวนรถที่มีเครื่องยนต์ดีเซลที่เผาไม่ไม่สมบูรณ์ซึ่งเป็นสาเหตุของฝุ่นนั้นยังเป็นเรื่องที่ยังดำเนินการได้ยากเพราะต้องขึ้นอยู่กับหลายส่วน ส่วนกรณีที่ เรียนประกาศหยุดเรียนก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละพื้นที่ซึ่งถ้าหากเป็นนักเรียนในระดับต่ำกว่าประถมศึกษาการหยุดเรียนไม่ส่งผลกระทบก็สามารถหยุดได้”

นอกจากนี้กระทรวงทรัพยากรฯ ยังได้ประสานกับภาคเอกชน การทดลองใช้ระบบฉีดน้ำจากตึกสูงเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น เริ่มที่บริเวณดาดฟ้าตึกกรมควบคุมมลพิษโดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการติดตั้งระบบสองถึงสามวันและจะเริ่มใช้ได้ในสัปดาห์หน้า

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับระยะยาวรัฐบาลกำลังขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มการขนส่งมวลชนทางรางมากขึ้นสิ้นสุดส่งผลให้ในระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้ามลภาวะทางอากาศลดลง

“ เมื่อเช้าเข้าร่วมการประชุมกับคณะกรรมการอีอีซี ซึ่งนโยบายของรัฐบาลที่มีเป้าหมายในการเพิ่มระบบขนส่งทางราง หากเห็นจากช่วงที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารเมื่อปี 2557 เพิ่มการขนส่งทางรางได้กว่า 2,000 กม.และจากนี้อีก 4-5ปี มีการลงทุนก่อสร้างเพิ่มอีก 2,000 กม. ซึ่งมีทั้งระบบรถไฟทางคู่ 32 เส้นทางระบบรถไฟฟ้า ระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดมลพิษในอนาคต”

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นปีนี้เป็นปีแรก แต่เหตุที่มีการตื่นตัวและออกมาตรการดูแลเป็นผลมาจากไทยเพิ่งจะมีการติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 ทำให้เห็นค่าชัดเจนเมื่อปี 2561 -2562 ก่อนหน้านี้มีค่าฝุ่นขนาด PM 2.5 แต่ไม่เคยวัดค่า อดีตไทยเคยมีการติดตั้งเครื่องวัดเฉพาะขนาด PM 10 ส่วนนี้ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทยเท่านั้นแต่ประเทศต่างก็ประสบปัญหาและดำเนินการแก้ไขเช่นเดียวกัน

“ รัฐบาลได้เข้าร่วมความตกลงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีสคอนเวนชั่นมเมื่อปี 2559 มีเป้าหมายว่าเฟสแรกจะลดก๊าซเรือนกระจก ให้ได้ 7% ในปี 2565 แต่ขณะนี้ไทยสามารถลดได้ 12% กว่าเป้าหมายที่ให้ความผูกพันไว้ ในเฟส 2 มีเป้าหมายจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20 ถึง 25% ในปี 2573 ทางกระทรวงได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการ ปี 64-73 โดยวางกรอบแนวทางร่วมกับหน่วยงานต่างๆหากสามารถดำเนินการได้สำเร็จคาดว่าจะลดได้ถึง 28% สูงกว่าเป้าหมาย”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!