กพช.เคาะพีดีพีฉบับใหม่ลดถ่านหินเหลือ 12% ตรึงค่าไฟ 3.58 บ./หน่วย

กพช.เคาะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (พีดีพี 2018) ฉบับใหม่ ลดการใช้ถ่านหินเหลือ 12% ตรึงค่าไฟ 3.58 บาท/หน่วย-หนุนโซลาร์ประชาชน10 ปี-ไฟเขียวต่ออายุ SPP โคเจนฯ 25 ราย

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่าที่ประชุมเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (พีดีพี 2018) ฉบับใหม่ ที่มีการทบทวนสถานการณ์กำลังผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน และได้จัดทำการพยากรณ์ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี ประกอบด้วย ความต้องการใช้ไฟฟ้าของระบบ 3 การไฟฟ้า และความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มาจากการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองหรือขายตรง (ไอพีเอส) ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค โดยปลายแผนกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศจะอยู่ที่ 77,211 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ จำนวนนี้เป็นการผลิตไฟฟ้าใหม่ 56,431 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 20,766 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ 500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น (ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน) 2,112 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าความร้อนร่วม 13,156 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน/ลิกไนต์ 1,740 เมกะวัตต์ รับซื้อจากต่างประเทศ 5,857 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าใหม่/ทดแทน 8,300 เมกะวัตต์ และจากแผนอนุรักษ์พลังงาน 4,000 เมกะวัตต์ โดยแผนการผลิตดังกล่าวจะทำให้ค่าไฟฟ้าของไทยอยู่ระหว่าง 3.50-3.63 บาทต่อหน่วย หรือเฉลี่ย 3.58 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

สำหรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินให้ลดลงเหลือร้อยละ 12 เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลง COP21 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงพลังงานมีการทบทวนใหม่ทุก 5 ปี หรือเมื่อมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายอย่างมีนัยสำคัญ โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้า การเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค การเชื่อมโยงกับระบบจำหน่าย เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนในอนาคต

อย่างไรก็ดี แผนพีดีพีได้กำหนดนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ อาทิ เพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าขยะจาก 500 เมกะวัตต์ เป็น 900 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อาทิ เชื้อเพลิงชีวมวล 3,376 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,485 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ รวมทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) บนหลังบ้านเรือน หรือโซลาร์ประชาชน 10,000 เมกะวัตต์ โดยจะนำร่องปีละ 100 เมกะวัตต์ ระยะเวลา 10 ปีตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป

นอกจากนี้ กพช.ยังเห็นชอบต่อสัญญากลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (เอสพีพี) ระบบโคเจนเนอเรชั่น จำนวน 25 ราย กำลังผลิตไฟฟ้า 2,974 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ 20 ราย และถ่านหิน 5 ราย ที่สิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2559 -68 ได้รับการต่ออายุสัญญาหรือก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ อายุสัญญา 25 ปี โดยให้ใช้เชื้อเพลิงตามสัญญาเดิมและได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าสอดคล้องกับประเภทเชื้อเพลิง โดยก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 2.80 บาทต่อหน่วย ถ่านหิน 2.54 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้ยังเห็นชอบหลักการคิดอัตราค่าไฟฟ้า และหลักการของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการ น้ำงึม 1 และโครงการเขื่อนเซเสด ฉบับใหม่ คือ คิดอัตราค่าไฟฟ้าที่เป็นปัจจุบันมีอายุสัญญา 1 ปี และสามารถต่อสัญญาต่อเนื่อง

“โซลาร์ประชาชนที่จะนำร่อง 100 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มได้ไม่เกินกลางปีนี้ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์ โดยการผลิตไฟฟ้าส่วนนี้ไม่ได้ดำเนินการเฉพาะบ้านประชาชนแต่จะครอบคลุมโรงเรียนชนบท และโรงพยาบาลตำบลด้วย เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับประโยชน์ ผ่านการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ส่วนบ้านเรือนทั่วไปเชื่อว่ากลุ่มประชาชนที่มีฐานะน่าจะเริ่มติดตั้งก่อน ส่วนกลุ่มประชาชนทั่วไปที่อยากติดตั้งแต่ไม่มีทุน กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างหารือกับธนาคารของรัฐ อาทิ ธนาคารอาคารส่งเคราะห์ ธนาคารออมสิน เพื่อกำหนดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับการติดตั้งโซลาร์ประชาชน คาดว่าจะมีข้อสรุปเร็วๆ นี้”