เกษตรเปิดโมเดลไขปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ.น่าน วางยุทธศาสตร์ 5 ปี บูรณาการเชิงรุกร่วมกับ 3 กระทรวง จูงใจส่งเสริมที่ดินทำกินจากบนลงล่างปลูกพืชอื่นแทนข้าวโพดและยาง เผยปีนี้รุกป่าน้อยลงเหลือ 1,000 ไร่ หรือเท่ากับศูนย์ นโยบายทวงคืนผืนป่าเป็นผลเร่งฟื้นฟูป่าต้นน้ำ
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากรัฐบาลได้มีมติเห็นชอบกลไกขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พื้นที่ไม่ถูกกฎหมาย จังหวัดน่าน โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามความก้าวหน้า ล่าสุด คณะกรรมการได้มีมติบูรณาการส่งเสริมอาชีพในจำนวนป่าที่ถูกบุกรุกไป 1.6 ล้านไร่
โดย 9.4 แสนไร่ ถูกบุกรุกโดยการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้ดำเนินการใน 2 พื้นที่หลัก แบ่งเป็น พื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่ถูกบุกรุก 2.2 แสนไร่ 2.พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยกำหนดให้ใช้แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ใช้โมเดลการจัดสรรที่ดิน จ.แม่ฮ่องสอน (2560-2564) ทั้งดำเนินการโดยการลาดตระเวนพื้นที่ป่าไม่ให้มีการขยายหรือบุกรุกเพิ่ม ขณะเดียวกัน ป่าที่ถูกยึดคืนมาได้ให้นำมาฟื้นฟูร่วมกับชาวบ้าน สร้างความรู้และส่งเสริมพัฒนาอาชีพจากบนลงล่าง (โครงการเปลี่ยนอาชีพจากบนสู่ล่าง) จัดอยู่ในกรอบของคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จ.น่าน รูปแบบประชารัฐ
โดยมีพื้นที่เป้าหมาย ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกร ให้เปลี่ยนอาชีพจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ประกอบด้วย ระยะที่ 1 โดยมี 5 อำเภอนำร่อง ประกอบด้วย 1.อ.สองแคว พื้นที่ 6,269 ไร่ จำนวน 467 ราย 2.อ.ท่าวังผา พื้นที่ 2,363 ไร่ 154 ราย 3.อ.บ้านหลวง พื้นที่ 3,454 ไร่ จำนวน 256 ราย 4.อ.นาน้อย พื้นที่ 2,796 ไร่ จำนวน 456 ราย และ อ.เชียงกลาง 183 ไร่ จำนวน 25 ราย รวม 15,055 ไร่ และระยะที่ 2 รอส่งมอบ 31,541 ไร่ ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ คทช. จะส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ให้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลักที่ให้รายได้สูง อาทิ อะโวคาโด ชาอัสสัม มะนาวตาฮิติ ไม้สัก ต้นไผ่ มะม่วงโชคอนันต์ มะม่วงหิมพานต์ ไก่พันธุ์พื้นเมือง โดยเน้นส่งเสริมในลักษณะแปลงใหญ่โครงการเกษตรพื้นที่สูง เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดและเกษตรกร มีเอกชนรับซื้อในราคาที่สูงกว่าตลาด
“พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถูกบุกรุกเป็นแสนไร่ เราจะลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลง 9 แสนไร่ ใน 5 ปี ส่วนผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอ จะให้ปลูกข้าวโพดหลังนาประชารัฐ และได้กำชับให้กรมวิชาการเกษตร ควบคุมเมล็ดพันธุ์แต่ละพื้นที่อย่างเคร่งครัด ต้องลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูง และลดการใช้สารเคมี ช่วงปี 2555-60 มีการบุกรุก 7 หมื่นกว่าไร่ ตอนนี้เหลือไม่ถึง 1,000 ไร่ต่อปี หรือหยุดยั้งเท่ากับศูนย์ได้แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวโพดบนเขาหัวโล้นลดลงไป 4 หมื่นไร่ ระยะต่อไปคือ แผนส่งเสริมอาชีพระยะ 5 ปี โดยอีก 2 สัปดาห์จะเชิญรัฐมนตรีทั้ง 5 กระทรวงมาร่วมรับฟังความก้าวหน้าอีกครั้ง”
ศูนย์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ดึงชาวบ้านป้องกันได้ผล
วันนี้แผน 5 ปี เพื่อฟื้นฟูผืนป่าจังหวัดน่าน เริ่มได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ล่าสุดสามารถหยุดการทำลายป่าและลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้แล้วประมาณ 11,990 ไร่ ด้วยการหาพื้นที่ทดแทน และชักจูงให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น
ดังจะเห็นได้จากพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ 2 ส่วน สามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้รวม 22,110 ไร่ แบ่งเป็น 1.พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1, 2 สามารถลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้18,860 ไร่
และ 2.พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3, 4, 5 สามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ 3,250 ไร่ ขณะเดียวกันลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประมาณ 34,100 ไร่
หลังจากแผนการนำร่องในจังหวัดน่านได้ผล ในอนาคตทั้ง 4 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย จะนำโมเดลความร่วมมือนี้ไปขยายผลในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะการลดพื้นที่ปลูกยางพารา
นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความคืบหน้ามาตรการทวงคืนผืนป่าของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนที่เป็นพื้นที่บนเขาล่อแหลมต่อภัยพิบัติสามารถเจรจาได้ 1,110 ไร่ จากบนลงล่าง โดยมีเงื่อนไขการส่งเสริมอาชีพควบคู่ ในปีนี้พบการบุกรุกพื้นที่ป่าและถูกจับกุมดำเนินคดีเหลือเพียง 80 ไร่ สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุดคือ การส่งเสริมอาชีพและการจัดตั้ง “ศูนย์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ” โดยมีผู้นำชุมชนทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อให้เกิดการรับรู้และประชาชนมีส่วนร่วมการหวงแหนป่า ที่เป็นของทุกคน ไม่ใช่ของรัฐหรือคนใดคนหนึ่ง
“ต้องยอมรับว่าการดำเนินการต้องใช้เวลา เพราะมีปัญหาสะสมมานาน เมื่อเขาเห็นอาชีพก็ลงมาข้างล่าง ทำให้เกิดแนวทาง ปัจจุบันถือว่าหยุดการบุกรุกป่าได้โดยสิ้นเชิง 3 ปีที่ผ่านมาปีละพันกว่าไร่ ซึ่งปี 2560 มีการดำเนินคดีน้อยลงมาก ตอนนี้เราไปตั้ง “ศูนย์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ” เป็นนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ซึ่งได้ผลมาก เมื่อก่อนไม่มีศูนย์นี้ เวลายึดพื้นที่คืนมาได้เขาก็กลับไปบุกรุกใหม่ พอตั้งศูนย์นี้ เราสามารถฟื้นฟูให้ชาวบ้านรู้สึกมีส่วนร่วมป่าชุมชน ไม่ใช่เพียงของรัฐ โดยใช้รูปแบบเปลี่ยนไป ทำให้แนวทางทำงานชัด โดยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เป็นแกนนำหลักสู่กระบวนการทำความเข้าใจชาวบ้านร่วมกับนายอำเภอและผู้ว่าฯ ใช้วิธีการเจรจาส่งเสริมอาชีพจากบนสู่ล่าง”