พาณิชย์ร่างไกด์ไลน์ข้าวจีทูจี รับลูก “ป.ป.ช.” วางหมากสกัดคอร์รัปชั่น

พาณิชย์รับลูก ป.ป.ช. คลอดแนวทางปฏิบัติการซื้อขายข้าวจีทูจี ป้องกันการทุจริต สร้างความมั่นใจให้กับข้าวราชการในอนาคต พร้อมกระจายแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้ด้วย ด้าน ส.ผู้ส่งออกข้าวหดเป้าส่งออกปี”62 เหลือ 9.5 ล้านตัน ฝ่าปัจจัยลบทั้งค่าเงินบาท-สต๊อกข้าวผู้นำเข้า-ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้กำหนดให้จัดทำมาตรการป้องกันการทุจริตกรณีการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐ จากโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และได้ให้ความเห็นชอบในแนวทางปฏิบัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอเป็นที่เรียบร้อย ล่าสุดกรมจึงได้ออกแนวทางปฏิบัติในการเจรจาและการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) สำหรับข้าราชการประจำ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานในอนาคต

“กรมได้หารือกับกรมการค้าภายใน องค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมจัดทำแนวทางปฏิบัติให้เป็นการแนวทางและหลักการยึดปฏิบัติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจให้กับการปฏิบัติหน้าที่ของกรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำจีทูจีในอนาคตว่ามีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น”

แนวทางปฏิบัตินี้กำหนดหลักการสำคัญในการเจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจีไว้ 3 แนวทาง คือ 1.การเจรจาและทำสัญญา คู่สัญญาต้องเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลกลางของประเทศผู้ซื้อ และต้องสามารถตรวจสอบข้อมูลกับกระทรวงการต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง 2.การชำระเงิน ต้องเป็นการชำระเงินระหว่างประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการเปิด letter of credit (L/C) เพียงอย่างเดียว สามารถขึ้นอยู่กับการเจรจา แต่ต้องตรวจสอบที่มาของเงินดังกล่าวได้ ซึ่งต้องมีเอกสารหลักฐานจากธนาคารทั้งของไทยและธนาคารที่เป็นประเทศคู่ค้าในการใช้ทำธุรกรรมทางการเงินดังกล่าว และ 3.การส่งมอบข้าวต้องส่งออกไปจากประเทศไทยจริง โดยมีหลักฐานใบอนุญาตส่งออกข้าวที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่าเป็นการส่งออกข้าวรัฐบาล

นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศ สามารถเปิดเผยข้อมูลในสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจีทั้งฉบับได้ตามความเหมาะสม โดยต้องไม่ขัดต่อข้อกำหนดหรือข้อตกลงในสัญญา และไม่กระทบต่อตลาดและความสัมพันธ์กับประเทศผู้ซื้อ

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สมาคมได้ปรับลดเป้าหมายการส่งออกข้าวปี 2562 เหลือ 9.5 ล้านตัน มูลค่า 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่ส่งออกได้ 11.09 ล้านตัน ทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดียที่ส่งออกได้ 11.97 ล้านตัน โดยปีนี้คาดการส่งออกข้าวเกือบทุกชนิดลดลง เช่น ข้าวขาว 5% ส่งออกได้ปริมาณ 4.8 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนที่ส่งออกได้ 5.9 ล้านตัน ข้าวนึ่ง 2.4 ล้านตัน จากปีก่อน 2.7 ล้านตัน ข้าวหอมมะลิ 1.3 ล้านตัน จากปีก่อน 1.6 ล้านตัน เป็นผลจากการแข่งขันในตลาดข้าวโลกรุนแรงมากขึ้น สต๊อกข้าวของผู้ซื้อ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์มากขึ้น ทำให้มีการสั่งซื้อลดลง และระดับราคาข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้นจากค่าบาทแข็งค่าจาก 33 บาท เหลือ 31 บาท

“ผู้ส่งออกเป็นห่วงค่าเงินบาทมาก ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลและหามาตรการดูแลเรื่องนี้ เราไม่ต้องการให้ค่าเงินแข็งค่ากว่าคู่แข่ง เพราะหากข้าวไทยราคาสูงก็ส่งออกลำบาก ผลกระทบไม่ใช่เพียงผู้ส่งออก แต่มีผลต่อการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรด้วย”

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า น่าจับตากรณีอินเดียมีมาตรการกระตุ้นการส่งออก โดยรัฐบาลจะอุดหนุน 5% ของมูลค่าข้าว เพื่อจูงใจให้ผู้ส่งออก ทำมูลค่าส่งออก ทำให้ผู้ส่งออกสามารถกำหนดราคาขายต่ำกว่าประเทศอื่น ในขณะที่ราคาข้าวขาวเวียดนามมีแนวโน้มลดต่ำลง หลังจากที่มีอุปสรรคในการส่งออกไปจีนลดลงจากกรณีที่จีนมีสต๊อกมาก ซึ่งทั้งจีนและเวียดนามต่างขายข้าวออกมาในราคาถูก มีผลกระทบต่อการแข่งขันของข้าวไทย โดยเฉพาะตลาดแอฟริกา

“ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในแอฟริกา จากปี 2560 มี 53% ปี 2561 เหลือ 47% เท่านั้น ส่วนปัจจัยบวกมีเพียงช่วงนี้ที่รัฐบาลอินเดียมีนโยบายซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าทุกปีเพื่อเก็บสต๊อกไว้ จึงมีข้าวออกสู่ตลาดน้อยลง ผู้ส่งออกอินเดียจัดหาสินค้าไม่ได้ ทำให้ข้าวนึ่งลดลง และการที่ไทยเร่งขายข้าวเป็นจีทูจีเพิ่มในลอตที่ 8 อีก 1 แสนตันในปีนี้”

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!