พลังงานหมุนเวียน ต้านแผน PDP ไฟฟ้า ถูกเฉือนทำ “โซลาร์”

8 สมาคมโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนต้าน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP 2018 หลังอ่านฉบับเต็มพบกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ของกลุ่มหายไปกว่า 4,183 MW ถูกเฉือนไปให้โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์มากกว่า 10,000 MW พร้อมคำถามปริมาณสำรองไฟฟ้าหายไปไหน

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018) ฉบับเต็มที่ถูกเผยแพร่ออกมา หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าภาคเอกชนอย่างกว้างขวาง เนื่องจากแผน PDP ฉบับนี้มีรายละเอียดแตกต่างไปจากแผน PDP ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (PDP 2015) ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมมากถึง 13,156 เมกะวัตต์ (MW) รวมไปถึงโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 10,000 MW และไม่ยอม “ทบทวน” แผนตามความเห็นของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ชี้ให้เห็นว่า แผน PDP 2018 จะทำให้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น จนกลายเป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในระยะยาว

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าภาคเอกชนเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกลายเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากแผน PDP 2018 มากที่สุด โดยจะพบว่า กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ของกลุ่มลดลงเหลือแค่ 15,451 MW ตลอดทั้งแผน เมื่อเทียบกับแผน PDP 2015 ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ถึง 19,634 MW โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดลงของโรงไฟฟ้าชีวมวลรับซื้อแค่ 3,376 MW, ลม 1,485 MW โดยกระทรวงพลังงานนำกำลังผลิตที่ลดลง ไปเพิ่มให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อย่างมากมายถึง 10,000 MW และยังถูกแบ่งไปให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีก 2,725 MW

ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ กลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้ง 8 สมาคม อาทิ สมาคมผู้ผลิตก๊าซชีวภาพไทย, สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวล, สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าจากขยะ ได้หารือถึงแผน PDP ฉบับนี้จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า มีการปรับลดการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนลดลง แต่หันไปรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าประเภทอื่น (โรงไฟฟ้าโคเจเนอเรชั่น-โรงไฟฟ้าความร้อนร่วม-โรงไฟฟ้าตามนโยบายรัฐบาล) ซึ่งน่าจะมี “ความเสี่ยง” จากต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ LNG ที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคตตลอดแผน 20 ปีข้างหน้า

โดยที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติของแผน PDP 2018 ไว้ 7 ประเด็น คือ 1) ตามขั้นตอนการจัดทำแผน PDP จะต้องเปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ AEDP (Alternative Energy Development Plan 2558-2579) รวมไปจนถึงแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 หรือ EEP (Energy Effiency Plan) เพื่อนำไปประกอบรวมเข้ากับแผน PDP ดังนั้น เท่ากับว่า “แผน PDP 2018 ฉบับนี้ มีการทำแบบรวบรัดและข้ามขั้นตอนหรือไม่”

2) ในช่วง 10 ปีมีการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ประกอบการพลังงานทดแทนน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับศักยภาพของประเทศที่สามารถพัฒนาได้อีกมาก 3) แผน PDP ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ คือ ปัญหาเรื่องฝุ่นและมลพิษต่าง ๆ 4) การจัดทำแผน PDP เน้นให้ความสำคัญในมิติเดียว คือ “ราคา” เพื่อไม่ให้กระทบต้นทุนไฟฟ้าที่จะส่งผ่านไปถึงประชาชนหรือไม่ เพราะมองในแง่ต้นทุนพลังงานทดแทนในปัจจุบันลดลงค่อนข้างมาก บางประเภทเชื้อเพลิงต้นทุนการผลิตไม่ต่างจากการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

5) ส่วนของการผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองโดยไม่ขายเข้าระบบของการไฟฟ้า และ/หรือผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้ลูกค้าโดยตรง หรือ IPS (independent power supply) ถือว่าน้อยเกินไปหรือไม่ ตรงกันข้ามกับการผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปที่มีจำนวนมากกว่า 10,000 MW จากเหตุผลที่ว่าเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ทำให้มีราคาถูกลง แต่กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่จากกลุ่มผู้ประกอบการ IPS กลับลดลง ทั้ง ๆ ที่เทคโนโลยีได้รับการพัฒนาขึ้นเหมือน ๆ กัน

6) เป็นเรื่องน่าประหลาดมากที่แผน PDP 2018 ไม่ระบุถึงปริมาณสำรองไฟฟ้า (reserve margin) ในแต่ละปีมีสัดส่วนอย่างไร ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาปริมาณสำรองทั้งระบบสูงถึงกว่าร้อยละ 30 รวมทั้งเมื่อพิจารณาจำนวนโรงไฟฟ้าที่จะเข้าระบบเป็นจำนวนมาก จะยิ่งทำให้ปริมาณสำรองสูงมากขึ้น จนกลายเป็นมีกำลังผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการใช้ไปมากในแต่ละปีใช่หรือไม่ และ 7) ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่จะต้องนำเข้าเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้านั้น มีการการันตีได้หรือไม่ว่าราคาก๊าซจะไม่สูงขึ้น

“ทางกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ แต่เราต้องการให้จำนวนโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านพลังงานปัจจุบันให้มากที่สุด เพราะในช่วงที่ผ่านมา ตามแผน PDP 2015 ก็มีการสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็นอยู่แล้ว โดยจะสังเกตจากปริมาณสำรองที่สูงขึ้น และกำลังผลิตไฟฟ้าเท่าที่มีอยู่ก็ยังใช้ไม่เต็มที่เลย ที่สำคัญคืออยากให้มองย้อนกลับไปในอดีตที่ภาครัฐสนับสนุนพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง มีการทยอยรับซื้อ ทำให้อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนเป็นอีกฟันเฟืองที่กระตุ้นเศรษฐกิจ คำนวณเฉพาะโครงการที่ลงทุนไปแล้ว รวมกว่า 200,000 ล้านบาท แต่แผน PDP ฉบับใหม่รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนน้อยมาก สุดท้ายผู้ประกอบการอาจจะล้มหายตายจากไปในที่สุด” แหล่งข่าวกล่าว

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!