6 โรงกลั่น ขานรับผลิตน้ำมันมาตรฐาน EURO 5 ภายในปี 2566

กระทรวงพลังงาน ยืนยันทั้ง 6 โรงกลั่น ขานรับผลิตน้ำมันมาตรฐาน EURO 5 ภายในปี 2566 ระหว่างแก้ไขฝุ่น PM2.5 งัด 3 มาตรการรองรับเล็งลดราคาดีเซลพรีเมียมลงอีกให้ใกล้เคียงดีเซลปกติจูงใจใช้ ส่งเสริมผลิต EURO 4 พลัส จ่อขยายเวลาอุดหนุนราคา B20 ต่ำกว่าดีเซล B7 ต่อไปจากสิ้นสุดปลายเดือนนี้ รัฐเล็งลดสำรองน้ำมันดิบเหลือ 1-2% ลดภาระช่วย

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับผู้ค้าน้ำมันและโรงกลั่น เพื่อหามาตรการในการลดปริมาณฝุ่นละอองไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ว่า กระทรวงพลังงานได้เร่งรัดผู้ประกอบการโรงกลั่นในประเทศ 6 ราย ที่พร้อมจะผลิตน้ำมันดีเซลคุณภาพ EURO 5 ได้ทั้งหมดภายในปี 2566 จากเดิมในปี 2567-68 โดยระหว่างที่ยังผลิตไม่ได้จะหามาตรการจูงใจในการดำเนินการ 3 มาตรการหลักได้แก่ 1.การส่งเสริมการผลิต EURO 4 พลัส ที่จะลดค่ากำมะถันลงเหลือ 30 พีพีเอ็ม 2.หาแรงจูงใจให้จำหน่ายน้ำมัน EURO 5 มากขึ้นด้วยการลดราคาดีเซลเกรดพรีเมียมลงอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ใกล้เคียงกับดีเซลปกติมากสุด 3.รณรงค์การใช้ B20 ให้มากขึ้นโดยอาจขยายเวลาการอุดหนุนราคา B20 ให้ถูกกว่าดีเซล (บี 7) อัตรา 5 บาทต่อลิตรที่จะสิ้นสุด 28 ก.พ.นี้ออกไปอีก

“โรงกลั่นขณะนี้มีการผลิตน้ำมันยูโร 5 ได้เพียง 2 แห่ง คือ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล กับโรงกลั่นบางจากเมื่อปรับมาผลิตทุกรายจะต้องลงทุนทั้งหมด 3.5 หมื่นล้านบาท ถือว่าเราก็พยายามเร่งให้เร็วและระหว่างที่ยังผลิต EURO 5 ไม่ได้ จะมีมาตรการมาดูแลปัญหาฝุ่นที่มอบให้ทุกส่วนไปจัดทำรายละเอียดมาว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร และทั้งหมดจะสรุปได้ในสิ้นเดือนนี้ เบื้องต้นมาตรการที่รัฐจะเข้าไปช่วยเหลือโรงกลั่นเพื่อลดภาระการลงทุนและไม่ให้กระทบราคาขายปลีกคือการลดปริมาณสำรองน้ำมันดิบลงจาก 6% ของการจำหน่ายเหลือ 1-2%”

สำหรับมาตรการที่จะดูแลปัญหาฝุ่น PM2.5 ช่วงที่ยังไม่มีน้ำมัน EURO 5 ได้แก่ 1.ศึกษาการส่งเสริมการผลิตมาตรฐาน EURO 4 ปัจจุบันเป็น EURO 4 พลัส ที่จะลดค่ากำมะถันลงต่ำสุดเหลือ 30 พีพีเอ็มจากค่ามาตรฐานเดิม 50 พีพีเอ็ม ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดฝุ่น PM2.5 ลงได้อีก 10-15% ทำให้คุณภาพอากาศจะดียิ่งขึ้น 2.การส่งเสริมให้เกิดการจำหน่ายน้ำมันยูโร 5 ที่ขณะนี้มีการผลิตอยู่ 500 ล้านลิตรต่อเดือนหรือคิดเป็น 25% ของความต้องการใช้ดีเซลปกติ ส่วนนี้จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้ดีเซลพรีเมียมด้วยการลดราคาจำหน่ายลงมาอีกครั้ง จากก่อนหน้านี้ลดราคาไปแล้ว 1 บาทต่อลิตร ทำให้ดีเซลพรีเมียมแพงกว่าดีเซลปกติขณะนี้ประมาณ 2.60 บาทต่อลิตร โดยมีเป้าหมายให้ส่วนต่างใกล้เคียงมากขึ้น โดยอาจจะใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาดูแลเพื่อให้เป็นมาตรการระยะยาว

“เพื่อให้เกิดการใช้ดีเซลพรีเมียมที่เป็น EURO 5 นอกจากลดราคาเพื่อจูงใจใช้แล้วก็จะส่งเสริมให้ปั๊มน้ำมันเกิดเพิ่มขึ้นในการขายโดยอาจจะมีการจัดโซนนิ่งเพื่อลดฝุ่นเป็นพิเศษเช่นในเขต กทม.และปริมณฑล เขตเมืองใหญ่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น”

3.รณรงค์เพิ่มการใช้น้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ B 20 เพิ่มมากขึ้น โดยเตรียมความพร้อมถึงการทดสอบในกลุ่มรถยนต์ทั่วไป เช่น รถกระบะ 1 ตัน จากปัจจุบัน B 20 ใช้เฉพาะรถบรรทุก รถโดยสารขนาดใหญ่ และเรือโดยสารสาธารณะ

ทั้งนี้ จากการที่มีการเปิดจำหน่าย B 20 ผ่านปั้มน้ำมัน ปตท.และบางจาก 10 ปั้ม พบว่ายอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียง 3 วัน ขายได้ถึง 150,000 ลิตร ดังนั้น จะเร่งขยายผลส่งเสริมให้ปั้มขาย B 20 เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะพิจารณาขยายระยะเวลาการอุดหนุนราคา B 20 ให้ถูกกว่า B 7 อัตรา 5 บาทต่อลิตร จากเดิมหมดระยะเวลา 3 เดือนภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้