รัฐปัดฝุ่นซื้อไฟฟ้าจากเกาะกง 2 บริษัทไทย ชิงสัมปทาน 2400MW

อภิมหาโครงการโรงไฟฟ้าเกาะกง 100,000 ล้านบาท ตามรอย “สตึงมนัม” กฟผ.เตรียมเจรจาซื้อขายไฟฟ้าจากผู้พัฒนาโครงการ 2 ราย “สามารถคอร์ป-เกาะกงยูทิลิตี้” ไม่รวมค่าสายส่งลากยาวข้ามประเทศ 400 กม.วงเงิน 70,000 ล้านบาท โรงไฟฟ้าไทยข้องใจ สำรองล้นประเทศ หวั่นค่าไฟขึ้นอีก 12 สตางค์

ช่วงเวลาเดียวกันกับที่กระทรวงพลังงานกำลังผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ให้ผ่านการพิจารณาของ ครม. ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นที่ว่า กฟผ.จะต้องรับซื้อไฟฟ้าแพงมหาศาลถึงหน่วยละ 10.75 บาท แถมยัง “ซ่อน” ค่าน้ำ (ที่อ้างว่าได้รับฟรีจากโครงการเพื่อนำมาใช้ในพื้นที่ EEC) บวกเข้าไปในค่าไฟด้วยนั้น ล่าสุดกระทรวงพลังงานยังพยายามที่จะผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกแห่งหนึ่งที่เกาะกง กัมพูชา ซึ่งใหญ่กว่าโรงไฟฟ้าสตึงมนัมอย่างเทียบกันไม่ได้

ตั้งคณะทำงานซื้อไฟฟ้า

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า โครงการโรงไฟฟ้าเกาะกงก็เช่นเดียวกับโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม กล่าวคือ เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ เกิดขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้ว โดยระยะแรก (เมษายน 2551) รัฐบาลกัมพูชาทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน แจ้งว่า ให้สิทธิในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเกาะกง ขนาดกำลังผลิต 3,660 เมกะวัตต์ (MW) แก่ผู้ประกอบการไทย 3 ราย ได้แก่ บริษัทเกาะกง พาวเวอร์ ไลต์ (Koh Kong Power Light หรือ KKPL), บริษัทแคมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสต์เมนต์ ดีเวลอปเมนต์ กรุ๊ป (Cambodia International Investment Development Group หรือ CIIDG) และบริษัทกัลฟ์ เจพี (Gulf JP หรือ GJP) โดยให้ กฟผ. เป็นผู้ดำเนินการเจรจาซื้อขายไฟฟ้า “แต่ไม่มีความคืบหน้า”

ต่อมาปี 2559 โครงการโรงไฟฟ้าเกาะกงก็ถูก “ปัดฝุ่น” ขึ้นมาอีกครั้งพร้อมกับโรงไฟฟ้าสตึงมนัม มาคราวนี้กระทรวงพลังงานถึงกับกำหนด “ตาราง” การเจรจาโครงการโรงไฟฟ้าเกาะกงไว้ให้เสร็จสรรพ โดยสั่งให้ กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการเจรจาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทที่ได้สิทธิในการพัฒนา โครงการ โดยให้การเจรจาต้องแล้วเสร็จก่อนเดือนตุลาคม 2560 ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานในกระทรวง เนื่องจากมีข้าราชการส่วนหนึ่งเกษียณอายุ

ล่าสุด กฟผ. ได้แต่งตั้งคณะทำงานคัดเลือกผู้เสนอขายไฟฟ้าจากโครงการเกาะกง กัมพูชา เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญเร่งด่วนที่จะผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จ อย่างน้อยก็ให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้ความเห็นชอบร่างการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) กับร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Model PPA) เหมือนกับโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม

สามารถฯ-เกาะกงยูทิลิตี้

แหล่งข่าวจาก กฟผ. กล่าวยอมรับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทาง กฟผ.ได้วางหลักการในการเจรจาซื้อขายไฟฟ้ากับผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิจาก รัฐบาลกัมพูชาให้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า

เกาะกงไว้เรียบร้อยแล้ว โดยล่าสุดเหลือผู้ได้รับสิทธิ 2 ราย คือ บริษัทสามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART กับบริษัทเกาะกง ยูทิลิตี้ จำกัด หรือ KKU การเจรจาจะเจรจา 2 ด้าน คือ ด้านเทคนิค กับด้านราคารับซื้อไฟฟ้า

ทั้งนี้ บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น ได้รับสิทธิในการพัฒนาโครงการและเจรจาซื้อขายไฟฟ้าจากรัฐบาลกัมพูชาในเดือน พฤศจิกายน 2557 สถานที่ตั้งโครงการอยู่ที่จังหวัดเกาะกง กัมพูชา ขนาดกำลังผลิต 2,000 MW โดย 200 MW จะขายให้กับกัมพูชา ส่วนอีก 1,800 MW จะขายให้กับประเทศไทย อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 30 ปี กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบ (SCOD) Unit 1 เดือนมกราคม 2568 Unit 2 ในเดือนกรกฎาคม 2568

ขณะที่บริษัทเกาะกง ยูทิลิตี้ แจ้งได้รับสิทธิในการพัฒนาโครงการจากรัฐบาลกัมพูชาในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 สถานที่ตั้งโครงการ จังหวัดเกาะกง ขนาดกำลังผลิต 2,400 MW โดยจะขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดให้กับประเทศไทย อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 30 ปี กำหนดวันจ่ายไฟ (SCOD) Unit 1 เดือนมกราคม 2566 Unit 2 เดือนกรกฎาคม 2566 และ Unit 3 เดือนมกราคม 2567

“คณะทำงานของ กฟผ.จะทำการประเมินด้านเทคนิคในเรื่องของสิทธิในการใช้ที่ดิน ความพร้อมของระบบส่งไฟฟ้า เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า และการจัดหาเชื้อเพลิง (ถ่านหิน)

ส่วนการประเมินทางด้านพาณิชย์จะดูผู้ที่เสนอราคาค่าไฟต่ำ สุด โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน และราคาค่าเชื้อเพลิงและค่าขนส่ง ซึ่งเมื่อผ่านการประเมินจากคณะทำงานแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการประมูล (bidding) ต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว

โดยมูลค่าโครงการโรงไฟฟ้าเกาะกงคาดการณ์ว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท “สูงกว่า” โรงไฟฟ้าสตึงมนัมที่ใช้เงินลงทุนประมาณ 9,000 ล้านบาท (ไม่รวมระบบท่อส่งน้ำเพื่อผันน้ำเข้ามาประเทศไทย)

ผงะสร้างสายส่ง 400 กม.

แหล่งข่าวจากวงการผู้ประกอบการไฟฟ้ารายใหญ่ ให้ความเห็นว่า มูลค่าของโครงการโรงไฟฟ้าเกาะกงจะไม่ได้จบลงที่ตัวเลข 100,000 ล้านบาท เนื่องจากตัวเลขการลงทุนนี้ยังไม่รวมระบบสายส่งที่จะต้องต่อจากเกาะกงเข้า มายังประเทศไทย โดยจะต้องใช้สายส่งขนาด 500 KV จากเกาะกงมาถึงชายแดนประเทศไทยที่จังหวัดสุรินทร์ ระยะทางมากกว่า 400 กิโลเมตรทีเดียว

“ถ้าคิดกันคร่าว ๆ ผมเชื่อว่าเฉพาะเงินลงทุนค่าสายส่งจะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท แน่นอนสายส่งนี้ กฟผ.จะต้องเป็นคนจ่าย แล้วเงินจำนวนนี้จะถูกผลักไปที่ไหน จะถูกรวมเข้าไว้ในค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจะต้องเป็นผู้จ่าย ถ้าโรงไฟฟ้าเกาะกงเกิดขึ้นจริงค่าไฟฟ้าน่าจะแพงขึ้นไม่ต่ำกว่า 12 สตางค์/หน่วย ตลอดอายุสัญญา 25 ปี คิดเป็นมูลค่าถึง 24,000 ล้านบาท แล้วคิดว่า กฟผ.จะต้องรับซื้อไฟฟ้าจำนวน 2,400 MW จากบริษัทคนไทยที่เข้าไปลงทุนในเขมรทำไม ทั้ง ๆ ที่ตอนนี้สำรองไฟฟ้าของประเทศก็ล้นเกินอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อไฟฟ้าเข้ามาอีก” แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนความเคลื่อนไหวของกระทรวงพลังงานเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าเกาะกงนั้น ในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมามีการออกแถลงข่าวโดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ว่า “ยังไม่มี

การดำเนินการใด ๆ และอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดในการใช้ประโยชน์การเพิ่มความมั่นคงการผลิต ไฟฟ้า และราคาค่าไฟฟ้าจะเกิดประโยชน์ต่อราคาค่าไฟฟ้าของประเทศหรือไม่อย่างไร”