สงครามการค้าจีน-สหรัฐ “ศุภชัย” ชี้โอกาสไทย การเมืองต้องมั่นคง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน” ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าโลก หลังจากสหรัฐสร้างเงื่อนไขทางการค้าโดยการปรับขึ้นภาษีสินค้าจีน เป็นแรงผลักให้จีนใช้กลยุทธ์ผนึกกำลัง “ภูมิภาค” เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจเช่นกัน

ในงานประกาศผลการตัดสินข่าวและภาพข่าวรางวัลอิศรา อมันตกุล ประจำปี 2561 ซึ่งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 “นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยในสงครามการค้าโลก” ในฐานะภาคเอกชนที่ขยายการค้า และการลงทุน 13 กลุ่มธุรกิจ ใน 20 ประเทศทั่วโลก รวมถึงทั้งสหรัฐและจีน ได้สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายทั้งสองประเทศที่ต่างต้องการสร้างความมั่นคงภายใน

โดยสหรัฐมีนโยบายกีดกันทางการค้า(protect) รักษาผลประโยชน์ของสหรัฐ (preserve) การทำให้เศรษฐกิจน่าลงทุน การจ้างงานเพิ่มพูน เศรษฐกิจไม่ซบเซา (promote) และนโยบายให้สหรัฐมีบทบาทสำคัญไปทั่วโลกในทุกด้าน(advance) ส่วนจีน เน้นปฏิรูปโครงสร้างภาคการผลิต หรือซัพพลายไซด์ การบริหารจัดการนโยบายทางการค้าการเงิน และส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นข้อสำคัญ

ต้นเหตุที่สหรัฐยอมไม่ได้ 

ปัญหาที่สหรัฐขาดดุลการค้าให้กับจีนเป็นสาเหตุสำคัญ ทำให้สหรัฐกำหนดนโยบายที่สร้างเงื่อนไขทางการค้า แทนนโยบายเดิมที่เน้นการค้าเสรี โดยในช่วงที่ผ่านมาพบว่าสัดส่วนการส่งออกของจีน 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไปสหรัฐถึง 19% ขณะที่สหรัฐส่งออกไปจีนเพียง 8.4% แต่ก็มีขนาดใหญ่กว่าคือ 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สหรัฐจึงพยายามสร้างสมดุลทางการค้า โดย “การดึงคู่แข่งช้าลง สร้างศักยภาพตัวเองให้สูงขึ้น” นำมาสู่การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าลอตแรก 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และขยับดีกรีขึ้นเป็น 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้อัตรา 10% และขู่จะขึ้นเป็น 25% ซึ่งจีนก็ใช้มาตรการเดียวกันเช่นกัน แต่หลังจากสองฝ่ายตกลงที่จะเจรจายืดออกไปก่อน ทำให้ “ตลาดหุ้น-เศรษฐกิจโลก” ตอบรับดี

อย่างไรก็ตาม สหรัฐปีนี้จะเข้าสู่การเลือกตั้ง และคำศัพท์ที่ว่า “ภาษีนำเข้าก็คือภาษีของชาวอเมริกัน” เพราะผู้ที่เสียภาษี คือ คนอเมริกัน เพราะต้นทุนชีวิตสูงขึ้น การปรับขึ้น 25% ไม่รู้ว่าจีนหรือสหรัฐจะเจ็บกว่ากัน ดังนั้น จึงเห็นการประนีประนอมสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสหรัฐคงไม่รามือง่าย ๆ เหตุที่ “ดุลการค้า” ห่างกันมาก การใช้มาตรการนี้เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือ เศรษฐกิจสหรัฐโตขึ้น และเศรษฐกิจจีนโตลดลง โดยมีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจาก 3% จะลดลงเหลือ 2.9%

จีนขึ้นแท่นผู้นำด้าน AI 

ส่วนจีนเป็น “emerging market” มีโอกาสโต 6.6% เหลือ 6.2% จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แม้ว่าการส่งออกจะชะลอตัวลงไปบ้าง แต่จีนสามารถกระตุ้นการบริโภคภายในได้ เพราะมีฐานประชากรจำนวนมาก จุดเด่นสำคัญ คือ นโยบายในปี 2025 จีนโฟกัสเทคโนโลยี 10 อุตสาหกรรม โดยเฉพาะ AI จะเป็นตัวสำคัญ ซึ่งเมื่อรวมทุกด้าน จีนจะเป็นผู้นำโลกด้าน AI ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของมนุษยชาติ และสะเทือนฐานที่สหรัฐเป็นผู้นำโลกอยู่แล้ว จึงเป็นธรรมดาที่สหรัฐต้องกันไม่ให้แซงขึ้นมาได้ กรณีหัวเว่ย ซึ่งเป็นบริษัทที่มีงบประมาณการลงทุนวิจัยมากที่สุดในตอนนี้ ตามสมมุติฐานส่วนตัวผมมองว่า หากสหรัฐปล่อยให้จีนเป็นผู้นำ 5 จี หรือ 6 จี ด้านสื่อสารซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของดิจิทัล และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ AI ก็ยิ่งทำให้จีนก้าวกระโดด ซึ่งกรณีนี้สหภาพยุโรปหลายประเทศก็เริ่มจะป้องกันฐานผลิตในอียู เว้นเพียงเยอรมนีที่เป็นคู่ค้าสำคัญของจีน

นอกจากนี้ ปัจจัย “บทบาทเงินหยวน” ก็เป็นอีกนโยบายซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย One Belt One Road (OBOR) นโยบายการศึกษาและต่อยอดด้านเทคโนโลยี และการทำโครงการ Mega Rigion เชื่อม 3-4 เมืองโดยรถไฟที่มีรัศมีไม่เกิน 1 ชม. เพื่อเป็นศูนย์รวมการพัฒนาและยกระดับในทุกด้าน

สหรัฐบีบจีนผนึกภูมิภาค 

เมื่อเดือนมกราคม ได้ไปร่วมประชุม World Economic Forum (WEF) ทุกคนห่วงเทรดวอร์ และพูดถึงการเติบโตอาเซียน รวมถึงเริ่มให้การยอมรับจีนว่าเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจอีกราย จากครั้งที่ผ่านมาหลายประเทศเอียงไปทางสหรัฐ แต่ปีนี้ทุกคนคิดว่าจีนคงไม่ไปไหนและเทรดวอร์คงจะหาข้อสรุปได้ใน 2 ปี ประเด็นที่สหรัฐให้จับกุมตัวผู้บริหารระดับสูงของหัวเว่ย ผมสัมผัสได้จากความรู้สึกของเอกชนทั่วโลกว่าเห็นใจจีน

อย่างไรก็ตาม ลึก ๆ ผมว่าสหรัฐยอมรับว่าการใช้มาตรการกับจีนจะไม่มีผล เหมือนกับที่เคยใช้กับประเทศอื่นที่ผ่านมา และนำไปสู่การประนีประนอม โอกาสและความเสี่ยงของไทย

ในส่วนของไทยมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง โดยโอกาสหลักของไทยมาจากความเป็น “ศูนย์กลางอาเซียน” ทำให้หลายโรงงานในจีนพิจารณามาลงทุนในไทยและยิ่งสหรัฐพยายามกดดันจีน จะยิ่งเป็นแรงผลักดันให้จีนจับมือกับเพื่อนบ้าน สร้างความเข้มแข็งในภูมิภาคมากขึ้น

แต่อีกด้านนักลงทุนไม่ได้มองเพียงแค่ไทยประเทศเดียว แต่ยังมองโอกาสการลงทุนที่เวียดนาม อินโดนีเซีย หรือแม้แต่มาเลเซียด้วย ความเสี่ยงสำคัญของไทย คือ “ความมั่นคงทางการเมือง” เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดึงพันธมิตรจากทั่วโลก ถ้าหากไม่มีเสถียรภาพ โอกาสการเข้ามาแทรกแซงอาจจะมีขึ้น และต่างประเทศจะมองไทยเป็นโอกาสไหม