ยอดใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ม.ค. มีมูลค่า 5,734 ล้านเหรียญ ลดลงกว่า 2%

อดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
กรมการค้าต่างประเทศ เผยยอดการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเดือนม.ค. มีมูลค่า 5,734 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.08% โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการส่งออก อาเซียนยังเป็นตลาดที่มีการใช้สิทธิสูงสุด ตามด้วยจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและอินเดีย

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เดือนมกราคม 2562 พบว่า มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมอยู่ที่ 5,734.47 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ร้อยละ 74.60 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.08 โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 5,323.15 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 411.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่ลดลง เป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกของไทยในช่วงเดือนมกราคม 2562 ที่มีอัตราลดลงร้อยละ 5.65 โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากผลกระทบของสงครามการค้า การผันผวนของค่าเงินในตลาดโลก และการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของหลายประเทศ

ทั้งนี้ การใช้สิทธิประโยชน์ฯ แยกเป็นการใช้สิทธิภายใต้ FTA ปัจจุบันที่มี 12 ฉบับ และกำลังมีฉบับที่ 13 คือ ความตกลงอาเซียน-ฮ่องกง ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ภายในครึ่งปีแรกนี้ โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิ 5,323.15 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 76.58 ของมูลค่าการส่งออกรวมภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลง ลดลงร้อยละ 2.82 โดยตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อาเซียน (มูลค่า 2,052.36 ล้านเหรียญสหรัฐ) 2) จีน (มูลค่า 1,243.63 ล้านเหรียญสหรัฐ) 3) ญี่ปุ่น (มูลค่า 705.25 ล้านเหรียญสหรัฐ) 4) ออสเตรเลีย (มูลค่า 642.29 ล้านเหรียญสหรัฐ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 354.91 ล้านเหรียญสหรัฐ)

นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงการขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ความตกลง FTA ในส่วนของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์ (ASEAN – Australia – New Zealand: AANZFTA) คือ การปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules: PSR) จากระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2012 (HS. 2012) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นฉบับปี 2017 (HS. 2017) ซึ่งมีจำนวนสินค้ากว่า 5,000 รายการ โดยผลจากการปรับโอนพิกัดฯ จะทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรส่งออกไปยังประเทศสมาชิก AANZFTA ซึ่งได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะต้องขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form AANZ และขอตรวจรับรองคุณสมบัติถิ่นกำเนิดด้วยพิกัดฯ HS. 2017 ซึ่งประเทศไทยโดยกรมการค้าต่างประเทศได้เตรียมความพร้อมที่จะออกฟอร์ม AANZ โดยใช้พิกัดฯ HS. 2017 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป

อีกทั้ง ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยน Form AANZ รูปแบบใหม่ในการส่งออกไปอินโดนีเซีย เนื่องจากอินโดนีเซียเพิ่งได้ดำเนินการทางกฎหมายภายในประเทศเพื่อบังคับใช้ Form AANZ รูปแบบใหม่แล้วเสร็จ ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกภายใต้ AANZFTA ประเทศสุดท้ายที่จะเริ่มบังคับใช้ Form ดังกล่าว โดย Form รูปแบบใหม่จะไม่มีการระบุราคาสินค้า (FOB value) ยกเว้นกรณีสินค้าใช้เกณฑ์การได้ถิ่นกำเนิดแบบสัดส่วนมูลค่าการผลิตในภูมิภาค (RVC) เท่านั้น ทั้งนี้ กรมฯ จะเริ่มออกหนังสือรับรองฯ Form AANZ รูปแบบใหม่สำหรับส่งออกไปยังอินโดนีเซียภายใต้ความตกลง AANZFTA ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไป

สำหรับ Form AANZ ภายใต้ความตกลงอาเซียน – ออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์ ถือเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการไทยสามารถเลือกใช้ประโยชน์เพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในการส่งออกไปยังอาเซียน 10 ประเทศ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ นอกเหนือจากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ความตกลงไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และความตกลงไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการเริ่มให้ความสนใจมาใช้ประโยชน์ความตกลง AANZFTA เพิ่มมากขึ้น ล่าสุดในปี 2561 พบการขอใช้สิทธิฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2560 กว่าร้อยละ 88 โดยเป็นการขอใช้สิทธิฯ ส่งออกรถกระบะสูงเป็นอันดับ 1 ซึ่งมีมูลค่าการขอใช้สิทธิฯ กว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.26 ของมูลค่าการขอใช้สิทธิฯ ทั้งหมด เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตของรถรุ่นใหม่ด้วยการนำเข้าชิ้นส่วนจากประเทศนอกภาคี จึงหันมาใช้สิทธิฯ ภายใต้ความตกลง AANZFTA ที่มีกฎถิ่นกำเนิดสินค้ามีความเข้มงวดน้อยกว่าความตกลง TAFTA และกระบวนการผลิตสินค้าสอดคล้องกับกฎถิ่นกำเนิดสินค้า สามารถขอใช้สิทธิฯ ลดหย่อน/ยกเว้นภาษีได้

สำหรับการใช้สิทธิ GSP ที่ปัจจุบันไทยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์จาก 5 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐ เอกราช นอร์เวย์ และญี่ปุ่น โดยในเดือนมกราคม 2562 มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP เท่ากับ 411.32 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการใช้สิทธิร้อยละ 55.86 ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ขยายตัวร้อยละ 8.62 โดยการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐฯ ยังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือประมาณร้อยละ 96 ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP มีมูลค่า 396.59 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิร้อยละ 64.24 ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 617.39 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.45 สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่มอื่นๆ และเลนส์แว่นตา

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 กรมฯ ได้ประมาณการเป้าหมายอัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่ร้อยละ 9 หรือคิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ประมาณ 81,025 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มการขยายตัวไปในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และการพัฒนาระบบการให้บริการของกรมฯ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนโยบายของภาครัฐที่คาดว่าจะมีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกของไทยให้เติบโต