น้ำมันปาล์มผลิตไฟฟ้า 1.6 แสนตันไร้ผล-ราคาไม่ขยับ

ราคาปาล์มน้ำมันไม่ขยับ หลังเดินหน้าผลิตไฟฟ้าจากซีพีโอมา 1 เดือน “พาณิชย์” ลงพื้นที่สุราษฎร์ฯดันแผนเร่งรัดการใช้ B10 แก้ปัญหาสร้างสมดุลปาล์มระยะยาว พร้อมเจรจาอินเดียในกรอบ RCEP จี้เปิดตลาดน้ำมันปาล์ม ปลดล็อกส่งออก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า โครงการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะเป็นผู้รับซื้อในปริมาณ 1.6 แสนตัน ด้วยราคา กก.ละ 18 บาท เพื่อให้โรงสกัดไปซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรในราคา กก.ละ 3.00-3.20 บาท นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 จนถึงขณะนี้ผ่านมากว่า 1 เดือน ทางโรงสกัดแจ้งว่าซื้อ CPO ครบตามจำนวนแล้ว อยู่ระหว่างส่งมอบให้โรงไฟฟ้า ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2562 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์ม เนื่องจากราคาปาล์มตกต่ำ

อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการดำเนินการพบว่ามีปัญหาหลายจุด ทั้งเกษตรกรที่เข้าโครงการ หรือแม้แต่คุณภาพ CPO ที่จะนำมาผลิตไฟฟ้า และที่สำคัญราคาปาล์มที่รัฐบาลต้องการให้ราคาขยับขึ้นไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 2.00-2.50 บาทเท่านั้น การดำเนินการจัดทำเอกสารยุ่งยาก ปัจจัยด้านการส่งออกชะลอตัวทำให้ไม่สามารถระบายสต๊อกเดิม เพื่อรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบเข้ามาเพิ่มเติมได้ ส่งผลให้ราคาปาล์มในช่วงเดือนมีนาคม-ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดไม่ขยับขึ้น

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562 เพื่อติดตามสถานการณ์ และนำไปรายงานต่อนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) พิจารณาหามาตรการช่วยเหลือต่อไป

“ปัจจัยที่ทำให้ราคาปาล์มน้ำมันยังไม่ขยับขึ้นเกิดจากหลายปัจจัย จากผลผลิตช่วงนี้เป็นช่วงที่ผลผลิตออกเยอะซึ่งมาจากพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น เช่น พื้นที่เพาะปลูกในจังหวัดสุราษฎร์ฯ จาก 1.2 ล้านไร่ ขยับขึ้นมาเป็น 1.23 ล้านไร่ และช่วงนี้น้ำดียิ่งมีผลต่อผลผลิตดีขึ้น เมื่อผลผลิตออกมามาก แต่คลังจัดเก็บไม่เพียงพอจึงทำให้ผู้ประกอบการรับซื้อไม่ไหว เนื่องจากไม่มีพื้นที่จัดเก็บ ทางผู้ประกอบการก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไม่ได้ จึงทำให้ซื้อเพิ่มไม่ได้ ก็กระทบต่อราคา”

โดยจากการลงพื้นที่มีข้อเสนอต้องการให้ภาครัฐเร่งรัดการใช้งานน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ (B20) เพิ่มขึ้น โดยให้บริษัทผลิตรถยนต์ให้การรับรองว่ามีรถยนต์รุ่นใดบ้างที่สามารถใช้ B20 ได้ ส่วนรุ่นที่นอกเหนือกว่านั้น ให้ผู้ที่พร้อมใช้สามารถรับรองตัวเองได้ ซึ่งจะส่งผลให้ระบบ demand supply เป็นไปโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องกังวลกับปัจจัยทางการตลาดในต่างประเทศที่มีความไม่แน่นอนและไม่สามารถควบคุมได้

“มีข้อเสนอให้ผลักดันการใช้ B10 ซึ่งทางหน่วยงานที่ศึกษา กำลังจะสรุปว่า B10 มีปัญหาในการใช้งานหรือไม่ หากไม่พบปัญหาจะผลักดันให้มีการใช้แทน เพื่อให้สามารถดูดซับน้ำมันปาล์มดิบออกมาจากตลาด ทำให้ตลาดมีความสมดุล ส่งผลดีในระยะยาว”

นางสาวชุติมากล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านส่งออกปาล์มน้ำมันในระยะยาวว่า กระทรวงพาณิชย์จะนำประเด็นดังกล่าวไปหารือในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ (RCEP) ซึ่งมีอินเดียเป็นสมาชิกอยู่ด้วย โดยที่ผ่านมาทางอินเดียได้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจาก 40% เป็น 44% ประเทศดังกล่าวเป็นสมาชิกในการเจรจาการค้าต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดสหภาพยุโรปไทยอาจจะได้รับผลกระทบ เพราะมาเลเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบที่สำคัญจะได้สิทธิประโยชน์ในการลดภาษีตามความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างมาเลเซีย-สหภาพยุโรป

“ที่ผ่านมา อียูมาตรฐาน RSPO ซึ่งประเทศที่จะส่งออกได้จะต้องปลูกผลผลิตในที่ดินมีเอกสารสิทธิ ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด มีการป้องกันดิน น้ำ สภาพแวดล้อม อาทิ ใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็นตามความเหมาะสมลดการปนเปื้อนสารเคมีในน้ำ ดิน จัดเก็บภาชนะบรรจุสารในที่เหมาะสมฟื้นฟูดิน น้ำ ที่สำคัญห้ามเผาในทุกกรณี จึงทำให้ประเทศอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ได้รับผลกระทบรวมไปถึงประเทศไทย ทำให้ผู้ส่งออกดัมพ์ราคากันในตลาด ยิ่งกระทบทำให้น้ำมันปาล์มดิบที่สต๊อกไว้ไม่สามารถระบายได้”